ทฤษฎีรางวัลโนเบลเบื้องหลังกองทุน Global ETF

ลงทุนอย่างเป็นระบบตาม Modern Portfolio Theory เน้นกระจายความเสี่ยงหลากหลายสินทรัพย์ทั่วโลก ทำกำไรสูงสุด ในความเสี่ยงที่พอดีสำหรับคุณ

เนื้อหาสำคัญ

Modern Portfolio Theory คืออะไร

ทฤษฎี Modern Portfolio Theory เป็นงานวิจัยที่บุกเบิกวิชาเศรษฐศาสตร์ทางการเงินโดยนักเศรษฐศาสตร์ชาวอเมริกันนาม แฮรี่ มาร์โควิซ เขานำเสนอหลักการในบทความวิชาการหัวข้อ Portfolio Selection เมื่อปี 1952 และได้รับรางวัลโนเบลสาขาเศรษฐศาสตร์จากงานวิจัยนี้ในเวลาต่อมา

สิ่งที่มาร์โควิซคิดค้นขึ้น เป็นแนวทางที่นักลงทุนทั่วไปสามารถนำไปใช้เพิ่มประสิทธิภาพให้พอร์ตลงทุนของตนเอง โดยลงทุนในสินทรัพย์หลายประเภท แต่ละประเภททิศทางการขึ้นลงของราคาไม่ควรสัมพันธ์กันมากนัก หากเกิดวิกฤตเศรษฐกิจขึ้น สินทรัพย์ประเภทหนึ่งปรับตัวลง แต่อีกประเภทปรับตัวขึ้น ก็จะช่วยประคองพอร์ตให้ไม่ขาดทุนหนักๆ ลดความผันผวนของพอร์ตโดยรวมได้

ที่นำเสนอแบบนี้ เพราะมาร์โควิซเชื่อว่า ลึกๆ แล้วนักลงทุนไม่ชอบความเสี่ยง ถ้าจะต้องเสี่ยง ผลลัพธ์ที่ได้ก็ควรคุ้มค่ากับความเสี่ยงที่ต้องเผชิญ ยิ่งเสี่ยงสูง ผลลัพธ์ที่ได้ก็ควรต้องสูงมากๆ
ทั้ง 2 สิ่งนี้เอง เป็นแก่นของทฤษฎี Modern Portfolio Theory ที่จะช่วยให้คุณลงทุนได้แบบไม่ต้องเครียดมาก และสร้างผลตอบแทนที่น่าพอใจในระยะยาว

แม้แต่ Warren Buffett ก็ยังมี “กฎข้อที่ 1 อย่าขาดทุน” อันโด่งดัง สะท้อนความเชื่อเดียวกันว่า นักลงทุนควรจะให้ความสำคัญกับการลดความเสี่ยงก่อน โดยลงทุนในธุรกิจที่ตนเองเข้าใจ และสามารถคาดการณ์แนวโน้มในอนาคตได้อย่างค่อนข้างชัดเจน ส่วนกำไรค่อยตามมาทีหลัง

ลองนึกภาพว่า ถ้าคุณมีหีบสมบัติให้เลือกสองหีบ หีบหนึ่งมีมูลค่า 1 ล้านบาท ตั้งอยู่ในป่าทึบ ส่วนอีกหีบมูลค่า 1.2 ล้านบาท แต่ตั้งอยู่บนหน้าผาสูงชัน คุณก็จะเลือกหีบที่ตั้งอยู่ในป่า ซึ่งความเสี่ยงน้อยกว่า เพราะส่วนต่าง 2 แสน อาจจะไม่คุ้มกับการต้องเสี่ยงชีวิตปีนหน้าผาเพื่อให้ได้มา

พอร์ตในอุดมคติของนักลงทุน จึงเป็นพอร์ตที่ขยายผลกำไรได้มากที่สุด ในความเสี่ยงที่น้อยที่สุด 

ซึ่งการจับทิศทางตลาดให้ถูกต้องหรือเลือกสินทรัพย์​ให้ถูก ตัว อาจจะไม่ใช่กลยุทธ์ที่ตอบโจทย์ดังกล่าวมากนัก เพราะน้อยคนในโลกนี้จะจับจังหวะตลาดหรือเลือกสินทรัพย์ได้ถูกต้องแม่นยำสม่ำเสมอ แม้แต่ผู้เชี่ยวชาญที่เราฝากเงินให้บริหาร ส่วนใหญ่แล้วก็ทำไม่ได้ เห็นได้จากสถิติของกองทุนไทยในอดีตที่ผ่านมา ประมาณ 90% ของกองทุนรวมหุ้นทำผลตอบแทนได้แย่กว่าค่าเฉลี่ยตลาดในระยะยาว 

ดังนั้น ในมุมมองของมาร์โควิซ สิ่งสำคัญที่สุดสำหรับนักลงทุนทั่วไป ที่ต้องการให้พอร์ตลงทุนทำงานได้เต็มประสิทธิภาพ ทำผลตอบแทนให้ได้มากที่สุด ในความเสี่ยงที่จำกัด ก็คือการจัดสรรสินทรัพย์ หรือ asset allocation และการกระจายความเสี่ยง หรือ diversification

ทั้ง 2 สิ่งนี้เอง เป็นแก่นของทฤษฎี Modern Portfolio Theory ที่จะช่วยให้คุณลงทุนได้แบบไม่ต้องเครียดมาก และสร้างผลตอบแทนที่น่าพอใจในระยะยาว

การจัดสรรสินทรัพย์ (Asset Allocation)

การจัดสรรสินทรัพย์ คือ การคัดเลือกสินทรัพย์หลากหลายประเภทที่ไม่ค่อยสัมพันธ์กันมาจัดพอร์ต สินทรัพย์ที่ไม่ค่อยสัมพันธ์กัน หมายถึง สินทรัพย์ที่ราคาไม่ค่อยผันผวนในทิศทางเดียวกัน ทำให้เมื่อเกิดเหตุการณ์อะไรขึ้น สินทรัพย์หนึ่งราคาอาจจะตก แต่อีกสินทรัพย์หนึ่งราคาอาจจะขึ้น ทำให้ผลตอบแทนพอร์ตโดยรวมไม่ผันผวนมากนัก

ซึ่งน้อยคนนักที่ทราบว่า การจัดสรรสินทรัพย์คือปัจจัยที่มีอิทธิพลต่อผลตอบแทนของพอร์ตในระยะยาวมากที่สุด! 

โดยผลการวิจัยที่ตีพิมพ์ในปี 2529 และอัปเดตอีกครั้งในปี 2534 พบว่า ระหว่างนโยบายจัดสรรสินทรัพย์ การปรับสัดส่วนสินทรัพย์ตามสภาวะตลาด และหลักทรัพย์ที่คัดเลือกมาจัดพอร์ต การจัดสรรสินทรัพย์มีผลต่อผลตอบแทนของพอร์ตลงทุนมากที่สุด

มากกว่า 90% ของมูลค่าพอร์ตตัวอย่างที่เปลี่ยนแปลงในแต่ละไตรมาส เป็นผลมาจากการจัดสรรสินทรัพย์

ข่าวดีก็คือ สัดส่วนของสินทรัพย์ต่างๆ ในพอร์ต เป็นไม่กี่สิ่งในโลกการลงทุนที่คุณสามารถควบคุมได้ 100% ไม่เหมือนสภาวะตลาด เศรษฐกิจ หรือราคาหลักทรัพย์ ที่คุณไม่สามารถควบคุมหรือคาดการณ์ได้

การจัดสรรสินทรัพย์จึงเป็นหนึ่งในหัวใจของทฤษฎี Modern Portfolio Theory ที่นักลงทุนชื่อดังหลายคนแนะนำ และประยุกต์ใช้กับพอร์ตของตนเอง ไม่ว่าจะเป็น เรย์ ดาลิโอ ผู้เขียนหนังสือขายดี Principles ที่นำทฤษฎีไปพัฒนาต่อยอดเป็น Post-Modern Portfolio Theory และประสบความสำเร็จอย่างสูงในการบริหารจัดการเงินกองทุนของสถาบันและองค์กรใหญ่ๆ มากมาย หรือแม้กระทั่ง เบอร์ตัน มัลคีล ผู้เขียนหนังสืออมตะ A Random Walk Down Wall Street และบุกเบิกการลงทุนแบบ passive ในกองทุนดัชนี ก็ยังแนะนำให้นักลงทุนจัดสัดส่วนสินทรัพย์ต่างๆ ในพอร์ตให้หลากหลาย

“สิ่งสำคัญที่สุดที่คุณมีได้ คือกลยุทธ์การจัดสรรสินทรัพย์ที่ดี ฉะนั้น สิ่งที่นักลงทุนต้องมี คือพอร์ตที่มีแบบแผนและดุลยภาพ สามารถทำผลงานได้ดีในหลากหลายสภาวะ”
- เรย์ ดาลิโอ ผู้เขียนหนังสือ Principles

ประเภทของสินทรัพย์

สินทรัพย์แบ่งออกเป็น 2 ประเภทหลัก ได้แก่ สินทรัพย์ดั้งเดิม และสินทรัพย์ทางเลือก
สินทรัพย์ดั้งเดิม เป็นสินทรัพย์ที่คุณคุ้นเคยอยู่แล้ว ซึ่งก็คือ หุ้น ตราสารหนี้ (พันธบัตรรัฐบาล หุ้นกู้) และเงินสด (เงินฝาก กองทุนตลาดเงิน) 

ส่วนสินทรัพย์ทางเลือกนั้นมีหลากหลายมาก เช่น สินค้าโภคภัณฑ์ อสังหาริมทรัพย์ ของสะสม ประกัน อนุพันธ์ ฯลฯ

ในเบื้องต้น นักลงทุนมักจะเริ่มจัดพอร์ตโดยใช้สินทรัพย์ดั้งเดิมเป็นหลักก่อน โดยจะพิจารณาสัดส่วนที่เหมาะสมระหว่างหุ้น ตราสารหนี้ และเงินสด สำหรับผู้ที่เชี่ยวชาญมากขึ้น ก็อาจจะเติมสินทรัพย์ทางเลือกเข้าไปเสริมดุลยภาพ

สำหรับกองทุน Global ETF นั้น จะเน้นสินทรัพย์ 2 ประเภท คือหุ้น และตราสารหนี้ ที่จะเป็นขุมพลังขับเคลื่อนพอร์ตของคุณให้เติบโต และถ่วงดุลกันและกัน ไม่ให้พอร์ตคุณผันผวนมากจนเกินไป

ส่วนจะลงทุนในสินทรัพย์ประเภทใด ในสัดส่วนเท่าไหร่บ้างนั้น ขึ้นอยู่กับระดับความเสี่ยงที่คุณสามารถยอมรับได้ ซึ่งถูกกำหนดโดยช่วงอายุ เป้าหมาย และระยะเวลาลงทุนของคุณ

การกระจายความเสี่ยง (Diversification)

นอกจากการจัดสรรสินทรัพย์ โดยคัดเลือกสินทรัพย์ต่างประเภทมาจัดพอร์ตเพื่อถ่วงดุลกันและกันแล้ว สินทรัพย์แต่ละประเภทที่คุณคัดเลือกมา ควรประกอบไปด้วยหลักทรัพย์มากกว่า 1 ตัว ที่ถ้าจะให้ดี ก็ไม่ควรสัมพันธ์กันมากนัก 
เช่น ในสินทรัพย์ประเภทหุ้น คุณอาจจะเลือกลงทุนในหุ้นประเทศที่พัฒนาแล้ว กำลังพัฒนา และตลาดเกิดใหม่ เพราะหุ้นทั้ง 3 แบบจะเติบโตไม่เหมือนกัน และมีความอ่อนไหวต่อสถานการณ์โลกในระดับที่ต่างกัน

การผสมผสานทั้ง 3 เข้าด้วยกันจะช่วยทำให้พอร์ตมีเสถียรภาพมากกว่า สามารถคงมูลค่าและสร้างผลตอบแทนได้ แม้ในสภาพเศรษฐกิจที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว

การกระจายความเสี่ยงสำคัญมากสำหรับนักลงทุนที่ไม่เชี่ยวชาญการวิเคราะห์หลักทรัพย์มากนัก เพราะยังคาดการณ์อนาคตของธุรกิจได้ไม่แม่นยำเท่าไหร่ เวลาเลือกหลักทรัพย์ก็อาจจะเลือกผิดพลาด หรือจับจังหวะตลาดได้ไม่ดี หากนำเงินทั้งหมดไปฝากไว้กับหลักทรัพย์เพียงไม่กี่ตัว ก็อาจทำให้ขาดทุนหนักๆ ได้

เหมือนที่คุณเคยได้ยินว่า อย่าใส่ไข่ทั้งหมดไว้ในตะกร้าใบเดียว 

ดังนั้น แม้แต่ Warren Buffett เอง ก็แนะนำนักลงทุนทั่วไปว่า ให้​ซื้อกองทุนดัชนีที่มีการกระจายความเสี่ยงลงทุนในสินทรัพย์จำนวนมากๆ โดยไม่ต้องพยายามจับจังหวะตลาดหรือเลือกหุ้นรายตัวเลย 

นอกจากนี้ บัฟเฟตต์ยังแนะนำให้กระจายความเสี่ยงด้านเวลาด้วย โดยเพิ่มทุนอย่างสม่ำเสมอในกองทุนดัชนี เพียงเท่านี้ “นักลงทุนที่ไม่รู้อะไรเลย ก็สามารถทำกำไรชนะมืออาชีพส่วนใหญ่ได้แล้ว”

Modern Portfolio Theory และ Global ETF

สมัยก่อน นักลงทุนที่ต้องการลงทุนตามทฤษฎี Modern Portfolio Theory ที่มีการจัดสรรสินทรัพย์และกระจายความเสี่ยงเหมาะสม อาจจะต้องหันไปพึ่งผู้เชี่ยวชาญ หรือที่ปรึกษาทางการเงินช่วยจัดการให้ ทำให้นักลงทุนส่วนใหญ่ที่มีเงินลงทุนไม่สูง ขาดโอกาสเข้าถึงรูปแบบการลงทุนที่ดีและมีประสิทธิภาพ

แต่ด้วยเทคโนโลยีเฉพาะของ Jitta Wealth เราสามารถบริหารเงินลงทุนของคุณตามทฤษฎี Modern Portfolio Theory ได้อย่างเป็นระบบ ช่วยรักษาวินัยการลงทุนได้ยาวนาน คุณสามารถลงทุนตามหลักการที่ได้รับรางวัลโนเบลได้สะดวก ไม่ยุ่งยาก มีเวลาไปใช้ชีวิตอย่างสบายใจ 

เริ่มจากการประเมินระดับความเสี่ยงที่คุณรับได้ และจัดสัดส่วนพอร์ตของคุณตามผลการประเมิน ซึ่งจะแบ่งเป็น 3 ระดับด้วยกัน ได้แก่

  1. ความเสี่ยงต่ำถึงปานกลาง ลงทุนหุ้น 20% ตราสารหนี้ 80%
  2. ความเสี่ยงปานกลางถึงสูง ลงทุนหุ้น 50% ตราสารหนี้ 50%
  3. ความเสี่ยงสูงถึงสูงมาก ลงทุนหุ้น 80% ตราสารหนี้ 20%

จากนั้นกองทุน Global ETF จะคัดกองทุน ETF คุณภาพ ที่ลงทุนในหุ้นและตราสารหนี้ทั่วโลก มาจัดพอร์ตให้คุณ ตามสัดส่วนสินทรัพย์ด้านบน ช่วยลดความผันผวนที่เกิดจากสินทรัพย์ประเภทใดประเภทหนึ่ง รวมถึงความผันผวนระดับอุตสาหกรรม ประเทศ และภูมิภาค เพื่อสร้างผลตอบแทนที่ดีที่สุด ในความเสี่ยงที่น้อยที่สุด

และด้วยค่าบริหารจัดการที่ต่ำมาก เพียง 0.5% ต่อปี และนโยบายบริหารจัดการแบบ passive ไม่ซื้อขายบ่อยๆ ตามจังหวะตลาด เน้นลงทุนเพื่อผลตอบแทนระยะยาว คุณจึงวางใจได้ว่า Jitta Wealth จะอยู่เคียงข้าง ช่วยดูแลเงินลงทุนของคุณอย่างเต็มที่ จนเงินคุณเติบโตบรรลุเป้าหมาย

กองทุน ETF ดีอย่างไร

กองทุน ETF ก็คือกองทุนดัชนีประเภทหนึ่ง ที่เน้นสร้างผลตอบแทนล้อไปกับดัชนีที่อ้างอิง เช่น กองทุน Vanguard S&P 500 ETF อ้างอิงดัชนี S&P 500 กองทุน iShares NASDAQ 100 ETF อ้างอิงดัชนี Nasdaq 100 เป็นต้น

เพียงแต่ว่า กองทุน ETF นั้นสามารถซื้อขายผ่านตลาดหุ้นได้เหมือนหุ้นตัวหนึ่ง ทำให้มีสภาพคล่องสูง สับเปลี่ยนไปมาได้สะดวกสบาย และค่าใช้จ่ายต่ำ ไม่ต้องเสียค่าธรรมเนียมขาเข้า ขาออก หรือสับเปลี่ยนหน่วยลงทุนเหมือนกองทุนรวมปกติ

ที่สำคัญ กองทุน ETF มาพร้อมการกระจายความเสี่ยงแบบครอบคลุมในตัว เพราะดัชนีที่ใช้อ้างอิงประกอบไปด้วยหลักทรัพย์จำนวนมากอยู่แล้ว เพียงซื้อกองทุน ETF 1 หน่วยลงทุน ก็เหมือนคุณได้เป็นเจ้าของหุ้น 500 ตัวใน S&P 500 หรือหุ้นกู้ทั้งหมดในประเทศสหรัฐฯ โดยไม่ต้องใช้เงินลงทุนสูงมากเหมือนลงทุนหุ้นรายตัว

เพราะเหตุนี้เอง กองทุน ETF จึงได้รับความนิยมสูงมากในต่างประเทศ มีจำนวนเงินลงทุนใน ETF สหรัฐฯ รวมกันกว่า $4,000 ล้าน และจำนวนกองทุน ETF ให้เลือกซื้อมากกว่า 2,000 กองทุน 

ซึ่งกองทุน ETF ในสหรัฐฯ ไม่ได้ลงทุนแค่หลักทรัพย์สหรัฐฯ เท่านั้น แต่อ้างอิงดัชนีหลักทรัพย์หลากหลายประเภททั่วโลก ไม่ว่าจะเป็นตลาดหุ้นเกิดใหม่ พันธบัตรรัฐบาล หุ้นกู้ กองทุนอสังหาริมทรัพย์ ฯลฯ

กองทุน Global ETF จะคัดสรรกองทุน ETF ดีๆ เหล่านี้มาจัดพอร์ตให้คุณ โดยเลือกทั้งกองทุน ETF ที่ลงทุนในหุ้นสหรัฐฯ ประเทศพัฒนาแล้ว และตลาดเกิดใหม่ รวมถึงพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ และหุ้นกู้ด้วย 

เท่ากับว่า ด้วยเงินเริ่มต้นเพียง 10,000 บาท คุณก็ได้เป็นเจ้าของหลักทรัพย์ดีๆ จากทั่วทุกมุมโลก โดยไม่ต้องบริหารจัดการหรือวิเคราะห์หลักทรัพย์ใดๆ ให้วุ่นวาย

อ่านต่อ: วิธีการลงทุนของกองทุนส่วนบุคคล Global ETF

ลงทุนสบายใจ ไร้พรมแดน ในแบบที่เป็นคุณ
เปิดบัญชี Global ETF วันนี้ คว้าโอกาสสร้างผลตอบแทนจากสินทรัพย์ดีๆ ทั่วโลก
บริษัท หลักทรัพย์จัดการกองทุนจิตตะ เวลธ์ จำกัด
1111/9-10 ถนนลาดพร้าว แขวงจันทรเกษม เขตจตุจักร กรุงเทพมหานคร 10900



สงวนลิขสิทธิ์ © 2024 บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนจิตตะ เวลธ์ จำกัด
เนื้อหาทั้งหมดบนเว็บไซต์นี้จัดทำขึ้นโดยบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนจิตตะ เวลธ์ จำกัด (“Jitta Wealth”) ผู้บริหารจัดการบัญชีกองทุนส่วนบุคคล Jitta Wealth ที่ได้รับใบอนุญาตบริหารจัดการกองทุนประเภท ค เลขที่ ลค-0105-01 และดำเนินการภายใต้การกำกับ ดูแลของ สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) Jitta Wealth ให้บริการกองทุนส่วนบุคคลสำหรับผู้ลงทุนรายย่อย ที่ต้องการนำเงินมาลงทุนในตลาดทุน โดยใช้เทคโนโลยี AI วิเคราะห์หุ้นและกลยุทธ์การลงทุนที่จัดทำโดยบริษัทจิตตะ ดอท คอม จำกัด (“Jitta.com”) บริหารจัดการให้แบบอัตโนมัติ เพื่อผลตอบแทนระยะยาวที่สูงกว่าดัชนีตลาด การลงทุนมีความเสี่ยง ไม่ว่าจะเป็นการสูญเสียกำไรหรือเงินต้น กลยุทธ์การลงทุนของ Jitta Wealth ใช้ข้อมูลวิเคราะห์หุ้นของ Jitta.com ซึ่งคิดคำนวณจากข้อมูลในอดีต อัตราผลตอบแทน การเปรียบเทียบหรือการจัดอันดับการดำเนินงานที่เกี่ยวข้องกับการลงทุนบนเว็บไซต์นี้เป็นสมมุติฐานทางสถิติจากข้อมูลที่มี เพื่อใช้ประกอบการอธิบายรายละเอียดบริการเท่านั้น ไม่สามารถใช้รับประกันผลตอบแทนในอนาคตได้ สถานการณ์ในโลกที่เกิดขึ้น ไม่ว่าจะแง่บวกหรือแง่ลบ สามารถส่งผลกระทบ ต่อทั้งอุตสาหกรรมหรือกลุ่มธุรกิจ และอาจทำให้พอร์ตหุ้นที่มีการกระจายความเสี่ยงค่อนข้างมากแล้ว ประสบความผันผวนด้านราคาได้ Jitta Wealth ได้รับอนุญาตให้บริหารจัดการกองทุนเพื่อช่วยผู้ลงทุนบรรลุเป้าหมายด้านการเงินผ่านการ ลงทุนในสินทรัพย์ประเภท หุ้นโดยไม่มีเจตนาแนะนำความเหมาะสมของกลยุทธ์การลงทุนใดๆ แก่ผู้ลงทุน ผู้ลงทุนควรคำนึงถึงเป้าหมายการลงทุนส่วนตัว และค่าธรรมเนียมต่างๆ ของ Jitta Wealth ก่อนลงทุน
“Jitta Wealth” เป็นเครื่องหมายการค้าของบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนจิตตะ เวลธ์ จำกัด