แนวทางจัดการพอร์ต Thematic

สร้างโอกาสลงทุนในธีมธุรกิจที่เติบโตสูงตามเมกะเทรนด์โลก คุณสะดวกสบายด้วยระบบติดตามและปรับพอร์ตอัตโนมัติ

เนื้อหาสำคัญ

Jitta Wealth มอบทางเลือกการลงทุนตามเมกะเทรนด์แบบใหม่ให้คุณ เพิ่มโอกาสกระจายการลงทุนไปยังบริษัทต่างๆ ที่มีการเติบโตสูง เช่น บริษัทที่อยู่ในตลาดเกิดใหม่ อาทิ จีน อินเดีย บริษัทขนาดใหญ่ในตลาดหุ้นหลักอย่างประเทศสหรัฐอเมริกา หรือบริษัทที่อยู่ในอุตสาหกรรมที่มีโอกาสเติบโตสูง เช่น เทคโนโลยี บริการสุขภาพ เกมและอีสปอร์ต

นอกจากนี้ยังได้กระจายความเสี่ยงไม่ให้กระจุกตัวอยู่ในบริษัทใดบริษัทหนึ่ง หรือธีมใดธีมหนึ่ง ดังที่ Warren Buffett มีกฎทองการลงทุนไว้ว่า ‘อย่าวางไข่ไว้ในตะกร้าเดียวกันทั้งหมด’ เพราะถ้าตะกร้าหล่นจะทำให้ไข่แตกหมดทุกใบ ดังนั้นการกระจายความเสี่ยงจึงเป็นสิ่งสำคัญที่คุณควรให้ความสำคัญอยู่เสมอ

ด้วยการบริหารกองทุนส่วนบุคคลแบบอัตโนมัติ Jitta Wealth จะลงทุนในตราสารทุนประเภท ETF ในธีมเมกะเทรนด์ต่างๆ โดยจัดสัดส่วนเงินลงทุน และคอยดูแลปรับพอร์ตให้น้ำหนักการลงทุนในแต่ละกลุ่มธุรกิจมีความสมดุลกันตลอดเวลา เพื่อให้มีการกระจายความเสี่ยงอย่างเหมาะสม

นโยบาย Thematic จะช่วยให้คุณสามารถลงทุนในกลุ่มธุรกิจแห่งอนาคต แนวโน้มเติบโตสูง โดยไม่จำเป็นต้องดำเนินการต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการซื้อขาย ETF ต่างประเทศ เช่น โอนเงินลงทุน ซื้อขาย หรือปรับสัดส่วนพอร์ตการลงทุนด้วยตนเอง รวมถึงสามารถดูสถานะของพอร์ตได้ตลอดเวลาผ่านแอปพลิเคชันของ Jitta Wealth

แนวทางวิเคราะห์คัดเลือกธีมเมกะเทรนด์เพื่อการลงทุนผ่านนโยบาย Thematic

ธีมเมกะเทรนด์ที่เปิดให้ลงทุนผ่านนโยบาย Thematic ได้ผ่านการค้นคว้า วิเคราะห์และพิจารณาโดยทีมงาน Jitta Wealth แล้ว ว่าเป็นธุรกิจเมกะเทรนด์ที่น่าสนใจ รายได้ดี มีแนวโน้มเติบโตได้อีกไกลใน 10-20 ปีข้างหน้า เหมาะกับการลงทุนระยะยาว

โดยการคัดสรรธีมเมกะเทรนด์จะประกอบด้วยการวิเคราะห์ใน 2 มิติ ได้แก่ การวิเคราะห์เชิงปริมาณ (Quantitative Analysis) และการวิเคราะห์เชิงคุณภาพ (Qualitative Analysis)

ในการวิเคราะห์เชิงคุณภาพ เราจะวิเคราะห์ข้อมูลจากหลากหลายแหล่ง เพื่อดูว่าแต่ละธีมมีโอกาสเติบโตสูงมากน้อยแค่ไหนในระยะยาว เช่น ดูว่าขนาดตลาดของอุตสาหกรรมนั้นๆ เป็นอย่างไร มีมูลค่าประมาณเท่าไหร่ เฉลี่ยการเติบโตของอุตสาหกรรมที่ผ่านมาเป็นอย่างไร

กรณีเป็นอุตสาหกรรมใหม่ หรือเป็นกลุ่มธุรกิจเกี่ยวกับเทคโนโลยีใหม่ๆ เราก็อาจจะดูเพิ่มเติมว่า ธุรกิจในอุตสาหกรรมดังกล่าวสามารถแย่งส่วนแบ่งการตลาดมาจากธุรกิจดั้งเดิมได้มากน้อยแค่ไหน กำลังเข้ามาแทนที่ธุรกิจดั้งเดิมหรือไม่ และมีศักยภาพเพียงพอหรือไม่ ที่จะเติบโตจนกลายเป็นส่วนสำคัญในชีวิตประจำวันของเราในอนาคต เป็นต้น

นอกจากดูโอกาสในการเติบโตผ่านการวิเคราะห์เชิงคุณภาพแล้ว เราก็ยังนำการวิเคราะห์เชิงปริมาณเข้ามาใช้ เพื่อดูมูลค่าที่เหมาะสม น่าลงทุน ของธีมแต่ละธีมด้วย

เพราะในที่สุดแล้ว การลงทุนในธุรกิจที่ดี มีโอกาสเติบโต แต่ลงทุนในราคาที่แพงเกินไป ก็ทำให้คุณขาดทุนได้

ดังนั้น ทีมงาน Jitta Wealth จึงได้วิเคราะห์รายได้ของธุรกิจในแต่ละธีมที่เลือก เทียบกับมูลค่าทางตลาดหรือ Market Capitalization เพื่อดูว่ารายได้ธุรกิจเติบโตในสัดส่วนที่เหมาะสมกับราคาหุ้นหรือไม่ ราคาหุ้นไม่ได้แพงเกินไปจนทำให้ธีมนั้น Overvalued

เช่น เมกะเทรนด์เทคโนโลยีท่องเที่ยว ที่ราคาหุ้นตกลงมาเยอะในช่วงวิกฤต Covid-19 แต่เมื่อผู้คนเริ่มออกจากบ้านอีกครั้ง รายได้ของธุรกิจกลุ่มเทคโนโลยีท่องเที่ยวก็กลับมาดีขึ้น ในขณะที่ราคาหุ้นยังไม่ค่อยฟื้นตัว ทำให้ธีมเทคโนโลยีท่องเที่ยวมูลค่า ‘ถูก’ น่าลงทุน และมีโอกาสสร้างผลตอบแทนดีให้นักลงทุนในระยะยาว จึงเป็นจังหวะเปิดตัวธีมเทคโนโลยีท่องเที่ยวให้นักลงทุนที่สนใจได้เลือกจัดใส่พอร์ต เป็นต้น

แนวทางคัดเลือก ETF สำหรับแต่ละธีมเมกะเทรนด์

เพื่อให้คุณลงทุนในเมกะเทรนด์แต่ละธีมได้อย่างสบายใจยิ่งขึ้น Jitta Wealth จึงเลือก ETF (Exchange Traded Fund - กองทุนที่ซื้อขายผ่านตลาดหลักทรัพย์ได้เหมือนหุ้น) เป็นสินทรัพย์​ในการลงทุน เนื่องจาก ETF มีการกระจายความเสี่ยงในตัวอยู่แล้ว ETF กองหนึ่งจะลงทุนในหุ้นหลากหลายตัวจากทั่วโลกที่เข้าธีม เช่น ธีมบริการสุขภาพ ก็ลงทุนหุ้นบริษัทยา โรงพยาบาล จากทั่วโลก เป็นต้น เมื่อคุณซื้อ ETF ก็เหมือนได้เป็นเจ้าของธุรกิจในธีมนั้นๆ เป็น 10 เป็น 100 บริษัท หากเกิดเหตุการณ์ไม่คาดฝันกับบริษัทใดบริษัทหนึ่ง คุณก็ยังสบายใจได้ว่า ETF ธีมที่คุณซื้อไปจะไม่ขาดทุนหนักเหมือนกับไปซื้อหุ้นรายตัว

นอกจากนี้ ETF ที่เราเลือก ยังเป็น ETF แบบ Passive ค่าธรรมเนียมต่ำ เน้นสร้างผลตอบแทนตามการเติบโตของดัชนีธีมธุรกิจหรืออุตสาหกรรมนั้นๆ เหมาะกับการลงทุนระยะยาว เพราะตราบใดที่ธีมที่ลงทุนยังเป็นเมกะเทรนด์ ยังเติบโต ผลตอบแทนของคุณก็มีโอกาสเติบโตไปด้วย ไม่ต้องคอยซื้อๆ ขายๆ ให้เหนื่อย

ทั้งนี้ ETF ทั้งหมดที่ Jitta Wealth เข้าไปลงทุนให้นั้น จะเป็น ETF ที่ซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ประเทศสหรัฐอเมริกา เนื่องจากเป็นตลาดที่มี ETF ให้เลือกหลากหลายที่สุดในโลก นอกจากนี้ ETF ที่มีให้เลือกลงทุนในตลาดสหรัฐฯ ยังมีนโยบายลงทุนหุ้นทั่วโลกอีกด้วย 

ETF ที่ลงทุนของแต่ละธีมเมกะเทรนด์

ปัจจุบัน ธีมเมกะเทรนด์ที่ Jitta Wealth ได้คัดเลือกมาให้ลงทุน มีดังนี้

1. ตลาดหุ้นสหรัฐอเมริกา

ลงทุนใน iShares Core S&P 500 ETF (IVV) หุ้นขนาดใหญ่ในประเทศสหรัฐอเมริกา อ้างอิงดัชนี S&P 500 Index

2. ตลาดหุ้นจีน

ลงทุนใน iShares Trust - iShares MSCI China ETF (MCHI) หุ้นขนาดกลางและขนาดใหญ่ในตลาดหุ้นฮ่องกง (HKEX) ตลาดหุ้นเซี่ยงไฮ้ (SSE) และตลาดหุ้นเซินเจิ้น (SZSE) อ้างอิงดัชนี MSCI China Index

3. ตลาดหุ้นอินเดีย

ลงทุนใน iShares MSCI India ETF หุ้นขนาดกลางและขนาดใหญ่ในประเทศอินเดีย อ้างอิงดัชนี MSCI India Index

4. ตลาดหุ้นเวียดนาม

ลงทุนใน VanEck Vectors Vietnam ETF (VNM) หุ้นของบริษัทที่จดทะเบียนในตลาดหุ้นหลักของประเทศเวียดนาม อ้างอิงดัชนี MVIS Vietnam Index

5. ตลาดหุ้นฮ่องกง

ลงทุนใน iShares MSCI Hong Kong ETF (EWH) หุ้นฮ่องกง H-shares ที่มีหุ้นขนาดกลางถึงใหญ่ของตลาดฮ่องกง ซึ่งคิดเป็น 85% ของมูลค่าตลาดทั้งหมด อ้างอิงดัชนี MSCI Hong Kong 25/50

6. บริการสุขภาพ

ลงทุนใน iShares Global Healthcare ETF (IXJ) ตราสารทุนทั่วโลกในกลุ่มอุตสาหกรรมสุขภาพ อ้างอิงดัชนี S&P Global 1200 Health Care Index

7. หุ่นยนต์และ AI

ลงทุนใน iShares Trust - iShares Robotics and Artificial Intelligence Multisector ETF (IRBO) ตราสารทุนทั่วโลกในกลุ่มหุ่นยนต์​ และปัญญาประดิษฐ์ อ้างอิงดัชนี NYSE FactSet Global Robotics and Artificial Intelligence Index

8. คลาวด์

ลงทุนใน WisdomTree Cloud Computing ETF (WCLD) ตราสารทุนทั่วโลกในกลุ่มเทคโนโลยีคลาวด์ อ้างอิงดัชนี BVP Nasdaq Emerging Cloud Index

9. เทคโนโลยี

ลงทุนใน iShares Global Tech ETF (IXN) ตราสารทุนทั่วโลกในกลุ่มอุตสาหกรรมเทคโนโลยี อ้างอิงดัชนี S&P Global 1200 Information Technology Index

10. อีคอมเมิร์ซ

ลงทุนใน ProShares Online Retail ETF (ONLN) ตราสารทุนทั่วโลกในกลุ่มตลาดออนไลน์ อ้างอิงดัชนี ProShares Online Retail Index

11. เทคโนโลยีการเงิน (Fintech)

ลงทุนใน Global X FinTech Thematic ETF (FINX) ตราสารทุนทั่วโลกในกลุ่มเทคโนโลยีการเงิน อ้างอิงดัชนี INDXX Global Fintech Thematic TR

12. เกมและอีสปอร์ต

ลงทุนใน Global X Video Games & Esports ETF (HERO) ตราสารทุนทั่วโลกในกลุ่มเกม และอีสปอร์ต อ้างอิงดัชนี Solactive Video Games & Esports Index

13. เทคโนโลยีจีน

ลงทุนใน Invesco China Technology ETF (CQQQ) ตราสารทุนสัญชาติจีนในกลุ่ม Information Technology อ้างอิงดัชนี FTSE China Incl A 25% Technology Capped Index

14. กัญชา

ลงทุนใน ETFMG Alternative Harvest ETF (MJ) ตราสารทุนทั่วโลกในกลุ่มอุตสาหกรรมเพาะปลูกและแปรรูปกัญชาเพื่อประโยชน์ทางการแพทย์ อ้างอิงดัชนี Prime Alternative Harvest Index

15. เทคโนโลยีท่องเที่ยว

ลงทุนใน ETFMG Travel Tech ETF (AWAY) หุ้นของบริษัทเทคโนโลยีท่ีเป็นผู้นำอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวยุคใหม่จากทั่วโลก อ้างอิงดัชนี Prime Travel Technology Index

16. จีโนมิกส์

ลงทุนใน iShares Genomics Immunology and Healthcare ETF (IDNA) หุ้นของบริษัทเทคโนโลยีที่พัฒนานวัตกรรมด้านจีโนมิกส์ (Genomics) ภูมิคุ้มกันวิทยา (Immunology) และ พันธุวิศวกรรม (Bioengineering) จากทั่วโลก อ้างอิงดัชนี NYSE FactSet Global Genomics และ Immuno Biopharma Index

17. พลังงานสะอาดจีน

ลงทุนใน KraneShares MSCI China Clean Technology Index ETF (KGRN) หุ้นของบริษัทในประเทศจีน ที่พัฒนาผลิตภัณฑ์หรือให้บริการที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม อ้างอิงดัชนี MSCI China IMI Environment 10/40 Index

18. บริการสุขภาพจีน

ลงทุนในหุ้นของบริษัทสัญชาติจีนที่ทำธุรกิจด้านการให้บริการสุขภาพที่จดทะเบียนในตลาดหุ้นทั่วโลกผ่านกองทุน KraneShares MSCI All China Health Care Index ETF (KURE) ที่มีนโยบายลงทุนตามดัชนี MSCI China All Shares Health Care 10/40 Index

19. พลังงานสะอาด

ลงทุนในหุ้นของบริษัทที่ทำธุรกิจด้านพลังงานทดแทนและธุรกิจเกี่ยวเนื่องผ่านกองทุน iShares Global Clean Energy ETF (ICLN) ที่มีนโยบายลงทุนตามดัชนี iShares Global Clean Energy ETF

20. อินเทอร์เน็ต ออฟ ธิง

ลงทุนในหุ้นของบริษัทที่ได้ประโยชน์จากอุตสาหกรรม Internet of Things (IoT) ที่กำลังขยายตัวในหลายอุตสาหกรรมทั่วโลกผ่านกองทุน Global X Internet of Things ETF (SNSR) ที่มีนโยบายลงทุนตามดัชนี INDXX Global Internet of Things Thematic Index

21. เซมิคอนดักเตอร์

ลงทุนในหุ้นของบริษัทผู้ผลิตเซมิคอนดักเตอร์ทั่วโลกผ่านกองทุน VanEck Vectors Semiconductor ETF (SMH) ที่มีนโยบายลงทุนตามดัชนี MVIS® US Listed Semiconductor 25 Index

22. เมตาเวิร์ส

ลงทุนในหุ้นของบริษัทที่ทำธุรกิจเกี่ยวข้องกับการสร้างโลกเสมือนจริงแห่งอนาคตทั่วโลกผ่านกองทุน Roundhill Ball Metaverse ETF (METV) ที่มีนโยบายลงทุนตามดัชนี Ball Metaverse Index

23. ไซเบอร์ซีเคียวริตี

ลงทุนในหุ้นของบริษัทที่ทำธุรกิจเกี่ยวข้องกับเรื่องความปลอดภัยทางไซเบอร์ทั่วโลกผ่านกองทุน First Trust Nasdaq Cybersecurity ETF (CIBR) ที่มีนโยบายลงทุนตามดัชนี Nasdaq CTA Cybersecurity Index™

24. ลิเธียมและแบตเตอรี

ลงทุนในหุ้นของบริษัทที่เกี่ยวข้องกับการคิดค้น วิจัยและผลิตแบตเตอรีลิเธียมและแบตเตอรีประเภทอื่นทั่วโลกผ่านกองทุน Global X Lithium & Battery Tech ETF (LIT) ที่มีนโยบายลงทุนตามดัชนี Solactive Global Lithium Index

เกณฑ์การคัดเลือก ETF เพื่อลงทุน

Jitta Wealth Thematic มีเกณฑ์และขั้นตอนการคัดเลือก ETF ตามเงื่อนไข ดังนี้

  1. จัดอันดับ ETF ที่มี AUM สูงสุด 5 อันดับแรกของธีมเมกะเทรนด์แต่ละธีม
  2. เลือก ETF ที่มี AUM สูงที่สุดลำดับแรก โดยต้องมีอัตราส่วนค่าใช้จ่ายรวม หรือ Expense Ratio ต่ำที่สุดด้วย
  3. ETF ที่ได้มาจะนำไปพิจารณาความเสี่ยงด้านสภาพคล่องก่อนนำมาลงทุนจริง โดยในปีแรกที่เสนอขายกองทุน จะตั้งไว้ที่สภาพคล่องเฉลี่ย 1 ล้านเหรียญสหรัฐต่อวัน

โดยขั้นตอนดังกล่าวจะมีการพิจารณาทบทวน ความเหมาะสมของ ETFs ที่จะลงทุนตามรอบระยะเวลาที่เหมาะสมอยู่เสมอ

วิธีบริหารจัดการ Thematic DIY

Thematic DIY คือนโยบายการลงทุนที่ให้คุณได้ออกแบบพอร์ตเมกะเทรนด์ด้วยตนเอง ดีไซน์พอร์ตอย่างที่ใจต้องการ เลือกจับคู่ธีมเมกะเทรนด์ใส่พอร์ตลงทุนได้สูงสุดถึง 5 ธีมในพอร์ตเดียว แล้วให้ระบบบริหารจัดการกองทุนอัตโนมัติของ Jitta Wealth คอยดูแล ปรับพอร์ต เพื่อรักษาสัดส่วนที่เหมาะสมของการลงทุนให้ พอร์ตของคุณจะได้เติบโตไปพร้อมๆ กับเมกะเทรนด์ที่ก้าวเข้ามามีบทความในชีวิตของเรามากขึ้นเรื่อยๆ

วิธีการจัดสัดส่วนลงทุนของ Thematic DIY

คุณสามารถเลือกธีมลงทุนใน 1 ถึง 5 ธีมในพอร์ตเดียว โดย Jitta Wealth จะลงทุนด้วยสัดส่วนที่เท่ากันในแต่ละธีมเพื่อกระจายความเสี่ยงให้สมดุลมากที่สุด อีกทั้งจะทำให้สามารถจัดสรรการลงทุนได้ง่ายเมื่อคุณเพิ่มทุนเข้ามา

ตัวอย่างเช่น คุณเลือกลงทุนทั้งหมด 4 ธีม คือ ตลาดหุ้นสหรัฐฯ ตลาดหุ้นจีน เทคโนโลยี และบริการสุขภาพ  Jitta Wealth จะลงทุนในทั้ง 4 ธุรกิจที่คุณเลือก โดยลงทุนเฉลี่ยประมาณธีมละ 25% เท่าๆ กัน

การบริหารจัดการพอร์ตแบบอัตโนมัติ

Jitta Wealth บริหารกองทุนด้วยระบบอัตโนมัติ ซึ่งจะปรับสัดส่วนการลงทุน (Rebalance) ให้กลับมาอยู่ในสัดส่วนที่ตั้งไว้ เมื่อสัดส่วนของธีมใดๆ เปลี่ยนแปลงอย่างน้อย 5% หรือเมื่อครบกำหนด 1 ปี นับจากวันที่ปรับสัดส่วนครั้งล่าสุด ซึ่งจะช่วยให้พอร์ตของคุณเป็นไปตามนโยบายที่ต้องการอยู่เสมอ 

จากนั้นเมื่อเวลาผ่านไป ปรากฏว่า ธีมเทคโนโลยีราคาเพิ่มสูงขึ้นมาก สัดส่วนเพิ่มขึ้นเป็น 31% ของพอร์ตทั้งหมด เท่ากับว่าเกินสัดส่วนที่ควรจะเป็นมากกว่า 5% (จากสัดส่วนเฉลี่ยที่ 25% ในแต่ละกลุ่ม) ระบบจะปรับพอร์ตอัตโนมัติ โดยซื้อและขายทั้ง 4 ธีม ให้กลับมามีสัดส่วนการลงทุนเฉลี่ยที่ 25% เท่าๆ กันดังเดิม

วิธีการนี้จะช่วยลดความเสี่ยงจากการมีเงินลงทุนอยู่ในกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งมากหรือน้อยเกินไป ส่งผลให้คุณได้รับประโยชน์จากศักยภาพการเติบโตโดยรวมของกลุ่มธุรกิจเหล่านี้ โดยมีความผันผวนที่ลดน้อยลงมาก

นอกจากนี้ การใช้ระบบปรับสัดส่วนการลงทุนในแต่ละธีมโดยอัตโนมัติ จะช่วยอำนวยความสะดวกให้คุณในการเพิ่มเงินลงทุน โดยไม่ต้องคอยติดตามว่า ควรจะลงทุนในธีมไหน เท่าไหร่ ตอนไหน ทำให้ ช่วยลดเวลา ลดความผิดพลาด และมีค่าใช้จ่ายที่ถูกกว่าการไปลงทุนด้วยตนเอง

การเปลี่ยนธีมการลงทุน

หลังลงทุนไปแล้ว หากคุณต้องการเปลี่ยนธีมที่เลือกไว้ สามารถทำได้สะดวกง่ายดายบนแอปพลิเคชัน Jitta Wealth

อย่างไรก็ตาม คุณสามารถเปลี่ยนธีมโดยไม่มีค่าใช้จ่ายได้เพียงไตรมาสละ 1 ครั้งเท่านั้น เกินกว่านั้นจะมีค่าใช้จ่ายครั้งละ 500 บาท

วิธีบริหารจัดการ Thematic Optimize

optimize-process.png

เมกะเทรนด์น่าลงทุนในโลกนี้มีอยู่มากมาย คุณจะทราบได้อย่างไรว่าควรลงทุนเมกะเทรนด์ไหน ถึงจะช่วยให้เงินเติบโตได้ดีที่สุด?

คุณไม่ต้องทำนายอนาคต ไม่ต้องวิเคราะห์มหภาค ไม่ต้องอ่านงบการเงินคล่อง ก็สามารถลงทุนเมกะเทรนด์ให้พอร์ตเติบโตอย่างสบายใจได้ เพียงตั้งเป้าลงทุนระยะยาว เข้าใจหลักการลงทุนที่ยั่งยืน และเติมเงินใส่พอร์ตอย่างมีวินัย ที่เหลือ Thematic Optimize จะจัดการดูแลพอร์ตให้คุณเอง

Thematic Optimize คือนโยบายการลงทุนที่จะช่วยแก้ปัญหาการลงทุนตามเมกะเทรนด์โลกให้คุณอย่างชาญฉลาด จัดพอร์ตด้วยธีมเมกะเทรนด์ศักยภาพสูง บริหารพอร์ตอย่างเป็นระบบ มีหลักการ ลดภาระที่คุณต้องมานั่งหาข้อมูล ศึกษา ตัดสินใจซื้อขายเอง

โดย Thematic Optimize จะใช้ AI เข้ามาช่วยวิเคราะห์แต่ละธีมเมกะเทรนด์อย่างละเอียด เพื่อคัดเลือกธีมที่น่าลงทุนที่สุดมาจัดพอร์ตให้คุณ พร้อมทั้งช่วยดูแลปรับพอร์ตให้อย่างมีวินัยทุกๆ 3 เดือน เพื่อให้พอร์ตคุณมีแต่ธีมที่น่าลงทุนที่สุดตลอดเวลา พอร์ตของคุณจะได้เติบโตไปพร้อมกับเมกะเทรนด์ขับเคลื่อนโลกอย่างสบายใจ

แนวทางคัดเลือกธีมเพื่อจัดพอร์ต

เนื่องจากธีมที่เราเปิดให้ลงทุนได้ทุกธีมนั้น ได้ผ่านการวิเคราะห์คัดกรองอย่างละเอียดแล้ว ว่าเป็นเมกะเทรนด์ที่น่าสนใจ มีโอกาสเติบโตดีในระยะยาว และราคายังอยู่ในระดับที่เหมาะสม จุดประสงค์หลักของ AI จึงเป็นการวิเคราะห์ระหว่างธีมที่ Jitta Wealth เปิดให้ลงทุนในปัจจุบัน ว่าธีมไหนน่าลงทุนที่สุด ณ วันที่คุณลงทุน และทดสอบผลตอบแทนย้อนหลัง (Back Test) เพื่อดูว่าธีมที่เลือกสร้างผลตอบแทนได้ดีจริง โดยทำตามขั้นตอนดังนี้

  1. AI วิเคราะห์ธีมที่เราเปิดให้ลงทุนและหุ้นที่อยู่ภายใน ETF แต่ละตัวทั้งหมด โดยพิจารณาจากการเติบโตของอุตสาหกรรม ผลตอบแทนที่ผ่านมา ค่าธรรมเนียมและความเสี่ยง 

  2. จัดอันดับธีมทั้งหมดจากทั้งหมด 19 ธีมลงทุน โดยธีมที่น่าลงทุนที่สุด จะต้องเป็นธีมที่เติบโตได้ดี นอกจากนี้ ผลตอบแทนกับความเสี่ยงต้องอยู่ในระดับที่สมดุลกัน 

  3. เลือกมา 4 ธีมที่น่าลงทุนที่สุด และทดสอบผลตอบแทนย้อนหลัง (Back Test) 

  4. จัดพอร์ตโดยกระจายลงทุนใน 4 ธีมในสัดส่วนเท่าๆ กัน (Equal Weight) 

  5. รีวิวธีมที่ลงทุนและปรับพอร์ตทุกๆ 3 เดือนโดย AI จะวิเคราะห์ธีมทั้งแพลตฟอร์มอีกครั้ง และจัดอันดับ 4-6 ธีมที่น่าลงทุนที่สุด 

  6. โดยถ้า 4 ธีมลงทุนที่อยู่ในพอร์ตเดิมยังอยู่ในอันดับที่ 1-6 จะไม่มีการขายออก จะปรับแค่สัดส่วนในการลงทุนในแต่ละธีมให้เท่าๆ กันเท่านั้น 

  7. แต่ถ้ามีธีมใดไม่ติด 1-6 ก็จะขายธีมนั้นไปและซื้อธีมใหม่ที่ติดอันดับเข้ามาแทน 

  8. ระบบจะดูแล จัดการ และทำตามหลักการนี้ซ้ำไปเรื่อยๆ แบบอัตโนมัติ 

วิธีการจัดสัดส่วนลงทุนของ Thematic Optimize

เมื่อคุณเลือกลงทุนกับ Thematic Optimize คุณจะได้ลงทุนใน 4 ธีมที่น่าลงทุนที่สุด ณ เวลานั้นๆ โดย Jitta Wealth จะลงทุนแต่ละธีมในสัดส่วนที่เท่ากัน หรือประมาณ 25% เพื่อกระจายความเสี่ยง ป้องกันไม่ให้เหตุการณ์ไม่คาดฝันที่ควบคุมและคาดการณ์ล่วงหน้าไม่ได้ ส่งผลกระทบต่อพอร์ตรุนแรง

เช่น การแพร่ระบาดของ Covid-19 ที่ไม่มีใครคาดคิด อุบัติขึ้นแบบไม่ทันตั้งตัว ทำให้อุตสาหกรรมท่องเที่ยวและเมกะเทรนด์เทคโนโลยีท่องเที่ยว (Travel Tech) ต้องเผชิญวิกฤตที่หนักหน่วง รายได้หดหายเป็นปีๆ สมมุติคุณลงทุนธีมเทคโนโลยีท่องเที่ยว คลาวด์ จีโนมิกส์ และเกมและอีสปอร์ต ในสัดส่วนเท่าๆ กัน ผลกระทบที่คุณจะได้รับก็จะจำกัดอยู่แค่ 25% ของพอร์ตที่ถือธีมเทคโนโลยีท่องเที่ยวอยู่ และพอร์ตอาจจะไม่ติดลบเลยก็ได้ หากอีก 3 ธีมที่เหลือธุรกิจยังคงเติบโต

ในทางตรงกันข้าม หากคุณปล่อยให้ธีมเทคโนโลยีท่องเที่ยวเติบโตจนกินสัดส่วน 50% ของพอร์ต เมื่อเกิดวิกฤต Covid-19 ครึ่งหนึ่งของพอร์ตคุณจะได้รับผลกระทบ และอาจจะทำให้ในช่วงที่เกิดวิกฤตนั้น พอร์ตขาดทุนหนักได้

ดังนั้นระบบของ Jitta Wealth จึงกระจายสัดส่วนลงทุนในแต่ละธีมให้เท่าๆ กัน และมีการปรับพอร์ตอย่างสม่ำเสมอทุก 3 เดือน เพื่อให้สัดส่วนดังกล่าวคงที่ให้มากที่สุด นอกจากจะช่วยให้คุณลงทุนอย่างสบายใจท่ามกลางความไม่แน่นอนของโลกแล้ว ยังเอื้อต่อการเพิ่มทุน ทำให้จัดสรรการลงทุนได้ง่ายขึ้นด้วย

ผลตอบแทนย้อนหลัง (Back Test)

เพื่อแสดงให้เห็นว่าการลงทุนตามนโยบาย Thematic Optimize นั้นสามารถสร้างผลตอบแทนของคุณให้เติบโตในระยะยาวได้ เราได้ทดสอบวัดผลตอบแทนย้อนหลังของนโยบาย Thematic Optimize ตามเกณฑ์ดังนี้

  1. ลงทุนเริ่มต้นที่ 50,000 บาท ในวันที่ 31 ธันวาคม 2560 ถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2565
  2. หักค่าธรรมเนียมการบริหารจัดการที่ 0.5% ต่อปี
  3. หักค่าธรรมเนียมการธรรมเนียมซื้อขาย หรือคอมมิชชัน ที่ 0.2% ต่อมูลค่า 1 คำสั่งซื้อ
  4. หักค่าธรรมเนียมรักษาทรัพย์สินที่ 0.1% ต่อปี
  5. ปรับพอร์ตทุกๆ 3 เดือน

ได้ผลลัพธ์ดังนี้

ผลการทดสอบผลตอบแทนย้อนหลังแบบ Back Test

2561

2562

2563

2564

2565

2566

ผลตอบแทนเฉลี่ยทบต้นต่อปี (CAGR)

Thematic Optimize

-9.31%

27.65%

67.47%

7.85%

-23.56%

27.07%

12.42%

MSCI World Index TR

-8.21%

28.40%

16.50%

22.35%

-17.73%

24.42%

9.46%

สถิติอื่นๆ
-
Sharpe Ratio: 0.54
- ⁠Max Drawdown: -34.79%

การบริหารจัดการพอร์ตแบบอัตโนมัติ

นอกจากใช้เทคโนโลยีคัดเลือกธีมที่น่าลงทุนที่สุดให้คุณแล้ว นโยบายลงทุน Thematic Optimize ยังใช้ระบบปรับพอร์ตอัตโนมัติ ปรับพอร์ตให้คุณทุกๆ 3 เดือน และเมื่อสัดส่วนของธีมใดธีมหนึ่งเปลี่ยนแปลงอย่างน้อย 5%

เมื่อครบกำหนด 3 เดือนนับจากวันที่ลงทุน ระบบจะวิเคราะห์หาธีมที่น่าลงทุนที่สุด 4 ธีม และดูว่าในพอร์ตของคุณมีธีมเหล่านี้อยู่หรือไม่ ธีมที่อยู่ในพอร์ตอยู่แล้ว ก็จะถูกปรับสัดส่วนให้กลับมาอยู่ที่ประมาณ 25% ของพอร์ตเหมือนเดิม (Rebalance) ในขณะที่ธีมที่อยู่ในพอร์ต แต่ไม่ได้เป็น 1 ใน 4 ธีมที่น่าลงทุนที่สุด ณ วันที่ปรับพอร์ต จะถูกขายออก เพื่อไปซื้อธีมใหม่ที่น่าลงทุนที่สุดเข้ามาแทน

หรือกรณีที่ยังไม่ครบ 3 เดือน แต่ว่า 1 ในธีมที่คุณลงทุนอยู่ราคาเพิ่มสูงขึ้นมาก สัดส่วนเพิ่มขึ้นเป็น 31% ของพอร์ตทั้งหมด เท่ากับว่าเกินสัดส่วนที่ควรจะเป็นมากกว่า 5% (จากสัดส่วนเฉลี่ยที่ 25% ในแต่ละกลุ่ม) ระบบจะปรับสัดส่วนให้อัตโนมัติ โดยขายส่วนที่เกินออกมาทำกำไร และซื้อธีมที่เหลือเพิ่ม ให้กลับมามีสัดส่วนการลงทุนเฉลี่ยที่ประมาณ 25% เท่าๆ กันดังเดิม

วิธีการนี้จะช่วยลดความเสี่ยงจากการมีเงินลงทุนอยู่ในกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งมากหรือน้อยเกินไป ส่งผลให้คุณได้รับประโยชน์จากศักยภาพการเติบโตโดยรวมของกลุ่มธุรกิจเหล่านี้ โดยมีความผันผวนที่ลดน้อยลงมาก

นอกจากนี้ การใช้ระบบปรับสัดส่วนการลงทุนในแต่ละธีมโดยอัตโนมัติ จะช่วยอำนวยความสะดวกให้คุณในการเพิ่มเงินลงทุน โดยไม่ต้องคอยติดตามว่า ควรจะลงทุนในธีมไหน เท่าไหร่ ตอนไหน ทำให้ ช่วยลดเวลา ลดความผิดพลาด และมีค่าใช้จ่ายที่ถูกกว่าการไปลงทุนด้วยตนเอง

การเปลี่ยนธีมการลงทุน

เมื่อคุณลงทุน Thematic Optimize คุณยินยอมให้ AI ของ Jitta วิเคราะห์และคัดเลือกธีมที่น่าลงทุนที่สุดให้คุณ ดังนั้น คุณจะไม่สามารถเปลี่ยนแปลงธีมที่ลงทุนได้

การเปลี่ยนแปลงแผนการลงทุน

คุณสามารถเปลี่ยนแปลงแผนการลงทุนจาก Thematic DIY เป็น Thematic Optimize หรือจาก Thematic Optimize เป็น Thematic DIY ได้ แต่การปรับเปลี่ยนแผนการลงทุนแต่ละครั้ง ระบบจะต้องปิดพอร์ต Thematic Optimize หรือ Thematic DIY ที่ถืออยู่ออกไป (กรณีถอนเงินทั้งหมด) หรือขายออกบางส่วน (กรณีถอนเงินบางส่วน) และนำเงินที่ได้รับจากการขายเข้าพอร์ตใหม่ที่คุณสร้างขึ้น พร้อมซื้อธีมใหม่ตามแผนลงทุนที่ปรับเปลี่ยน

ลงทุนสบายใจ ในเมกะเทรนด์ขับเคลื่อนโลก
เปิดบัญชี Thematic วันนี้ เปลี่ยนทุกย่างก้าวของมนุษยชาติ ให้เป็นโอกาสสร้างผลตอบแทนของพอร์ตคุณ
บริษัท หลักทรัพย์จัดการกองทุนจิตตะ เวลธ์ จำกัด
1111/9-10 ถนนลาดพร้าว แขวงจันทรเกษม เขตจตุจักร กรุงเทพมหานคร 10900



สงวนลิขสิทธิ์ © 2024 บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนจิตตะ เวลธ์ จำกัด
เนื้อหาทั้งหมดบนเว็บไซต์นี้จัดทำขึ้นโดยบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนจิตตะ เวลธ์ จำกัด (“Jitta Wealth”) ผู้บริหารจัดการบัญชีกองทุนส่วนบุคคล Jitta Wealth ที่ได้รับใบอนุญาตบริหารจัดการกองทุนประเภท ค เลขที่ ลค-0105-01 และดำเนินการภายใต้การกำกับ ดูแลของ สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) Jitta Wealth ให้บริการกองทุนส่วนบุคคลสำหรับผู้ลงทุนรายย่อย ที่ต้องการนำเงินมาลงทุนในตลาดทุน โดยใช้เทคโนโลยี AI วิเคราะห์หุ้นและกลยุทธ์การลงทุนที่จัดทำโดยบริษัทจิตตะ ดอท คอม จำกัด (“Jitta.com”) บริหารจัดการให้แบบอัตโนมัติ เพื่อผลตอบแทนระยะยาวที่สูงกว่าดัชนีตลาด การลงทุนมีความเสี่ยง ไม่ว่าจะเป็นการสูญเสียกำไรหรือเงินต้น กลยุทธ์การลงทุนของ Jitta Wealth ใช้ข้อมูลวิเคราะห์หุ้นของ Jitta.com ซึ่งคิดคำนวณจากข้อมูลในอดีต อัตราผลตอบแทน การเปรียบเทียบหรือการจัดอันดับการดำเนินงานที่เกี่ยวข้องกับการลงทุนบนเว็บไซต์นี้เป็นสมมุติฐานทางสถิติจากข้อมูลที่มี เพื่อใช้ประกอบการอธิบายรายละเอียดบริการเท่านั้น ไม่สามารถใช้รับประกันผลตอบแทนในอนาคตได้ สถานการณ์ในโลกที่เกิดขึ้น ไม่ว่าจะแง่บวกหรือแง่ลบ สามารถส่งผลกระทบ ต่อทั้งอุตสาหกรรมหรือกลุ่มธุรกิจ และอาจทำให้พอร์ตหุ้นที่มีการกระจายความเสี่ยงค่อนข้างมากแล้ว ประสบความผันผวนด้านราคาได้ Jitta Wealth ได้รับอนุญาตให้บริหารจัดการกองทุนเพื่อช่วยผู้ลงทุนบรรลุเป้าหมายด้านการเงินผ่านการ ลงทุนในสินทรัพย์ประเภท หุ้นโดยไม่มีเจตนาแนะนำความเหมาะสมของกลยุทธ์การลงทุนใดๆ แก่ผู้ลงทุน ผู้ลงทุนควรคำนึงถึงเป้าหมายการลงทุนส่วนตัว และค่าธรรมเนียมต่างๆ ของ Jitta Wealth ก่อนลงทุน
“Jitta Wealth” เป็นเครื่องหมายการค้าของบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนจิตตะ เวลธ์ จำกัด