รายงานการปฏิบัติตามหลักธรรมาภิบาลการลงทุน ประจำปี 2565

บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน จิตตะ เวลธ์ จำกัด

ตามที่บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน จิตตะ เวลธ์ จำกัด (“บริษัท”) ได้ประกาศเจตนารมณ์รับการปฏิบัติตามหลักธรรมาภิบาลการลงทุน (Investment Governance Code : I Code) เมื่อวันที่ 12 กันยายน 2563 แล้วนั้น บริษัทขอรายงานให้ทราบถึงผลการปฏิบัติตามหลักธรรมาภิบาลการลงทุน ประจำปี 2565 โดยสรุปได้ดังนี้


หลักปฏิบัติที่ 1 โครงสร้างธรรมาภิบาลการลงทุน

เพื่อสื่อสารและถ่ายทอดหลักปฏิบัติให้กับผู้ที่เกี่ยวข้องกับกระบวนการลงทุน (Investment Guideline) ทั้งภายในและภายนอก ได้เข้าใจถูกต้องตรงกัน และมั่นใจได้ว่าบริษัทจะปฏิบัติตามหลักธรรมาภิบาลการลงทุนอย่างมีประสิทธิภาพ บริษัทได้จัดให้มีนโยบายธรรมาภิบาลการลงทุน (Investment Governance Code Policy) เมื่อวันที่ 12 กันยายน 2563 และฉบับปรับปรุงเมื่อวันที่ 29 เมษายน 2564 เป็นต้นมา เพื่อนำมาใช้เป็นหลักปฏิบัติในการทำหน้าที่บริหารจัดการกองทุนส่วนบุคคลอย่างมีธรรมาภิบาล ซึ่งในปี 2565 คณะกรรมการได้มีการทบทวนนโยบาย ซึ่งมิได้มีการเปลี่ยนแปลงอย่างมีนัยสำคัญแต่อย่างใด จึงได้มีมติให้ใช้ฉบับเดิมต่อไป (ฉบับลงวันที่ 29 เมษายน 2564)

หลักปฏิบัติที่ 2 มีการป้องกันและจัดการความขัดแย้งทางผลประโยชน์อย่างเพียงพอ เพื่อเป็นประโยชน์ที่ดีที่สุดของลูกค้า

บริษัทตระหนักถึงการบริหารการลงทุนและการดำเนินธุรกิจด้วยความเชื่อมั่นและไว้วางใจของลูกค้า และ/หรือผู้ถือหน่วยลงทุนเป็นสิ่งสำคัญที่สุดสำหรับธุรกิจจัดการกองทุนส่วนบุคคล และเพื่อเป็นไป ตามหลักการกำกับดูแลกิจการที่ดี คำนึงถึงผลประโยชน์สูงสุดของลูกค้า และ/หรือผู้ถือหน่วยลงทุนเป็นสำคัญ บริษัทจึงได้กำหนดนโยบายและแนวปฏิบัติในการจัดการความขัดแย้งทางผลประโยชน์เป็นลายลักษณ์อักษร ให้เป็นไปตามประกาศของสำนักงาน ก.ล.ต. ประกอบกับความมุ่งมั่นในการดำเนินธุรกิจด้วยความโปร่งใส รวมทั้งพนักงานได้รับทราบและเข้ารับการอบรมประจำปีจากฝ่าย Compliance เพื่อให้ทราบและปฏิบัติตามนโยบายและวิธีปฏิบัติเพื่อดูแลรักษาผลประโยชน์ของลูกค้าอย่างเหมาะสม โดยครอบคลุมถึงนโยบายและมาตรการป้องกันการล่วงรู้ข้อมูลภายในระหว่างหน่วยงานและบุคลากร หลักเกณฑ์และวิธีการปฏิบัติในการซื้อขายหลักทรัพย์ของพนักงานและบุคคลที่เกี่ยวข้อง และระเบียบการรับเรื่องร้องเรียน บริษัทได้มอบหมายให้ฝ่าย Compliance ทำการตรวจสอบ ติดตาม การปฏิบัติตามมาตรการอย่างสม่ำเสมอ และรายงานผลต่อคณะกรรมการบริษัท

หลักปฏิบัติที่ 3 ตัดสินใจและติดตามบริษัทที่ลงทุนอย่างใกล้ชิดและทันเหตุการณ์

บริษัทให้ความสำคัญในการนำปัจจัยเรื่องการกำกับดูแลกิจการที่ดี มาเป็นส่วนหนึ่งในการวิเคราะห์ข้อมูลเพื่อการพิจารณาตัดสินใจลงทุน และบริษัทยังได้จัดให้มีกระบวนการในการติดตามการดำเนินงานและผลประกอบการของกิจการที่ลงทุนอย่างใกล้ชิดและสม่ำเสมอ เพื่อให้มั่นใจว่า กลยุทธ์การบริหารจัดการของกิจการที่ลงทุนสามารถนำไปสู่ผลที่ต้องการ และได้ปฏิบัติให้เป็นไปตามหลักการ ดำเนินธุรกิจอย่างมีบรรษัทภิบาลที่ดี

บริษัทให้ความสำคัญในเรื่องการติดตามการดำเนินงานของบริษัทที่ลงทุนอย่างสม่ำเสมอโดยพิจารณาคุณค่าของบริษัทหลักทรัพย์ที่ลงทุนด้วยระบบเทคโนโลยีของบริษัทที่มีความทันสมัย และมีระบบการบริหารความเสี่ยงที่เหมาะสมและมีประสิทธิภาพ เพื่อรักษาผลประโยชน์ของลูกค้าเป็นสำคัญ สำหรับหลักทรัพย์ที่ขึ้นเครื่องหมายที่แสดงการห้ามการซื้อขายหลักทรัพย์จดทะเบียนเป็นการชั่วคราว (Suspension : SP) และหลักทรัพย์ที่เข้าข่ายอาจถูกเพิกถอนออกจากตลาดหลักทรัพย์ (Non Compliance : NC) เป็นต้น บริษัทจะติดตามสถานการณ์ดังกล่าวอย่างใกล้ชิด และหาข้อมูลเพิ่มเติมเพื่อติดตามผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับงบการเงินของบริษัทหลักทรัพย์นั้น โดยจะไม่ลงทุนเพิ่มเติมให้กับลูกค้า หรือหากจำเป็นก็จะขายหลักทรัพย์ทันที

หลักปฏิบัติที่ 4 เพิ่มระดับในการติดตามบริษัทที่ลงทุนเมื่อเห็นว่าการติดตามในหลักปฏิบัติที่ 3 ไม่เพียงพอ

กรณีที่บริษัทพบประเด็นข้อสังเกต ข้อกังวล หรือข่าวสารเกี่ยวกับหลักทรัพย์นั้น ๆ เกี่ยวกับกิจการที่ลงทุน หรือมีการชี้แจง หรือดำเนินการที่ไม่ชัดเจนที่อาจมีผลกระทบต่อผลประโยชน์ของกองทุน บริษัทติดตามประเด็นที่เกี่ยวข้องกับเหตุการณ์ที่ควรเข้าไปดําเนินการกับบริษัทที่ลงทุนเพิ่มเติม

อย่างใกล้ชิดโดยให้ความสำคัญกับกลยุทธ์ ผลประกอบการ การจัดการกับความเสี่ยงที่เหมาะสม รวมถึงความเชื่อมั่นในการบริหารกิจการตามหลักการกำกับดูแลกิจการที่ดี พร้อมทั้งประเมินสถานการณ์ และแนวทางในการดำเนินการเพื่อป้องกันผลประโยชน์ของลูกค้าเป็นสำคัญ ทั้งนี้ ทีมการลงทุนยังมีการประชุมกับผู้บริหารและฝ่ายงานที่เกี่ยวข้องเพื่อหาแนวทางในการดำเนินการที่ดีที่สุดเพื่อลูกค้า โดยในเหตุการณ์ที่บริษัทพบว่า บริษัทที่ลงทุนมีประเด็นที่ควรตระหนักถึงในหลักการกำกับดูแลกิจการที่ดี การจัดการกับความเสี่ยง ความรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม หรือประเด็นอื่นใดที่บริษัทคาดว่ามีผลกระทบต่อกลยุทธ์การเติบโตในระยะยาวของบริษัทที่ลงทุน หรือในกรณีที่มีข่าวหรือเหตุการณ์ว่า มีประเด็นที่เกี่ยวกับผลประกอบการ เช่น ตกแต่งงบการเงิน (fraud) ฝ่ายการจัดการลงทุน (Investment) จะทำการติดตามอย่างใกล้ชิด และหากได้รับการยืนยันว่ามีการแต่งงบจริง เช่น จากสำนักงาน ก.ล.ต หรือ ตลาดหลักทรัพย์ฯ หรือขึ้นเครื่องหมาย NP บริษัทจะดำเนินการที่จะขายหุ้นออกไปจากพอร์ตลูกค้า

ในรอบปี 2565 บริษัทได้มีการเพิ่มระดับการติดตามกิจการที่ลงทุนสำหรับหลักทรัพย์ที่มีผลกระทบในภาพของรายได้ของบริษัทผู้ออก การถอนตัวออกจากตลาด การเสนอทำ Tender Offer การเปลี่ยนชื่อ การแตกหุ้น/แตกพาร์ การฟ้องร้อง และการควบรวมบริษัท ซึ่งทีมการจัดการลงทุน ได้มีการรีวิว ประเมิน และทบทวนหลักทรัพย์รายตัวทุกๆไตรมาส ว่าอยู่ในหลักเกณฑ์การลงทุนที่บริษัทกำหนดหรือไม่ จึงทำการระงับการทำธุรกิจหรือการซื้อขาย และ/หรือขายหุ้นออกจากพอร์ตของลูกค้าทันที

หลักปฏิบัติที่ 5 เปิดเผยนโยบายการใช้สิทธิออกเสียงและผลการใช้สิทธิออกเสียง

บริษัทยังคงยึดหลักปฏิบัติเดิม โดยกําหนดนโยบายไม่เข้าร่วมการประชุมผู้ถือหุ้น และไปใช้สิทธิออกเสียงในที่ประชุมผู้ถือหลักทรัพย์ ซึ่งได้มีการระบุในสัญญารับจัดการกองทุนส่วนบุคคลไว้เป็นลายลักษณ์อักษรชัดเจน โดยบริษัทจะแจ้งให้ลูกค้ารับทราบอย่างสม่ำเสมอตามวิธีที่ได้ตกลงกัน

หลักปฏิบัติที่ 6 ร่วมมือกับผู้ลงทุนอื่นและผู้มีส่วนได้เสีย(stakeholders) ตามความเหมาะสม

บริษัทยังคงยึดมั่นแนวปฏิบัติตามหลักการธรรมาภิบาลที่ดี โดยกำหนดให้มีการดำเนินการกับกิจการที่ลงทุนที่มีข้อกังวลและยังไม่สามารถแก้ไขปัญหาหลังจากเพิ่มระดับในการติดตามได้ บริษัทอาจมีการร่วมมือกับผู้ลงทุนอื่น (ทั้งในและต่างประเทศ) หรือผู้มีส่วนได้เสียของกิจการหากเห็นสมควร เพื่อให้กิจการที่ลงทุนเห็นความสำคัญของประเด็นข้อกังวัลของบริษัทและนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงที่ดีขึ้น

หลักปฏิบัติที่ 7 เปิดเผยธรรมาภิบาลการลงทุน และการปฏิบัติตามนโยบายต่อลูกค้าอย่างสม่ำเสมอ

นโยบายธรรมาภิบาลการลงทุน (Investment Governance Policy: I Code Policy) ของบริษัทได้มีการเปิดเผยต่อสาธารณชนผ่านทางเว็บไซต์ของบริษัท เพื่อความโปร่งใส ความเข้าใจ และความเชื่อมั่นในการปฏิบัติหน้าที่ของบริษัท รวมถึง มีการตรวจสอบและการรายงานผลการปฏิบัติตามนโยบายธรรมาภิบาลการลงทุน เพื่อประโยชน์ที่ดีที่สุดของลูกค้า และ/หรือ ผู้ถือหน่วยลงทุน และมีการจัดเก็บข้อมูลการปฏิบัติตามนโยบายธรรมาภิบาลอย่างเหมาะสม

ประกาศ ณ วันที่ 26 เมษายน 2566

นายตราวุทธิ์ เหลืองสมบูรณ์

ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร

บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน จิตตะ เวลธ์ จำกัด

บริษัท หลักทรัพย์จัดการกองทุนจิตตะ เวลธ์ จำกัด
1111/9-10 ถนนลาดพร้าว แขวงจันทรเกษม เขตจตุจักร กรุงเทพมหานคร 10900



สงวนลิขสิทธิ์ © 2024 บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนจิตตะ เวลธ์ จำกัด
เนื้อหาทั้งหมดบนเว็บไซต์นี้จัดทำขึ้นโดยบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนจิตตะ เวลธ์ จำกัด (“Jitta Wealth”) ผู้บริหารจัดการบัญชีกองทุนส่วนบุคคล Jitta Wealth ที่ได้รับใบอนุญาตบริหารจัดการกองทุนประเภท ค เลขที่ ลค-0105-01 และดำเนินการภายใต้การกำกับ ดูแลของ สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) Jitta Wealth ให้บริการกองทุนส่วนบุคคลสำหรับผู้ลงทุนรายย่อย ที่ต้องการนำเงินมาลงทุนในตลาดทุน โดยใช้เทคโนโลยี AI วิเคราะห์หุ้นและกลยุทธ์การลงทุนที่จัดทำโดยบริษัทจิตตะ ดอท คอม จำกัด (“Jitta.com”) บริหารจัดการให้แบบอัตโนมัติ เพื่อผลตอบแทนระยะยาวที่สูงกว่าดัชนีตลาด การลงทุนมีความเสี่ยง ไม่ว่าจะเป็นการสูญเสียกำไรหรือเงินต้น กลยุทธ์การลงทุนของ Jitta Wealth ใช้ข้อมูลวิเคราะห์หุ้นของ Jitta.com ซึ่งคิดคำนวณจากข้อมูลในอดีต อัตราผลตอบแทน การเปรียบเทียบหรือการจัดอันดับการดำเนินงานที่เกี่ยวข้องกับการลงทุนบนเว็บไซต์นี้เป็นสมมุติฐานทางสถิติจากข้อมูลที่มี เพื่อใช้ประกอบการอธิบายรายละเอียดบริการเท่านั้น ไม่สามารถใช้รับประกันผลตอบแทนในอนาคตได้ สถานการณ์ในโลกที่เกิดขึ้น ไม่ว่าจะแง่บวกหรือแง่ลบ สามารถส่งผลกระทบ ต่อทั้งอุตสาหกรรมหรือกลุ่มธุรกิจ และอาจทำให้พอร์ตหุ้นที่มีการกระจายความเสี่ยงค่อนข้างมากแล้ว ประสบความผันผวนด้านราคาได้ Jitta Wealth ได้รับอนุญาตให้บริหารจัดการกองทุนเพื่อช่วยผู้ลงทุนบรรลุเป้าหมายด้านการเงินผ่านการ ลงทุนในสินทรัพย์ประเภท หุ้นโดยไม่มีเจตนาแนะนำความเหมาะสมของกลยุทธ์การลงทุนใดๆ แก่ผู้ลงทุน ผู้ลงทุนควรคำนึงถึงเป้าหมายการลงทุนส่วนตัว และค่าธรรมเนียมต่างๆ ของ Jitta Wealth ก่อนลงทุน
“Jitta Wealth” เป็นเครื่องหมายการค้าของบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนจิตตะ เวลธ์ จำกัด