Skip to content - ข้ามไปที่เนื้อหา
Blog

สรุป Live: หุ้นไทย ใจยังสู้ แนะทางรอดและทางเลือก


Events Live

เนื้อหาสำคัญ

กลับมาอีกครั้งกับ Investor Exclusive ของ Jitta Wealth ครั้งที่ 2 ในเดือนมิถุนายน 2567 Live สดของคุณเผ่า ตราวุทธิ์ เหลืองสมบูรณ์ ​CEO และคุณอ้อ พรทิพย์ กองชุน CGO ของ Jitta Wealth กับ ‘Live หุ้นไทย ใจยังสู้ แนะทางรอดและทางเลือก’

มาส่องมุมมองหุ้นไทยจากคุณเผ่า พร้อมวิธีการจัดพอร์ตให้เหมาะสม สูตรปั้นพอร์ตแกร่งทุกช่วงเวลากับ ETF ทั่วโลก กลยุทธ์ลงทุนอย่างไรไม่ให้ติดดอย 

หากคุณสนใจอยากรับชม Live ของเราแบบสดๆ ในโอกาสต่อไปติดตามเราได้ที่ Facebook หรือ Youtube ของ Jitta Wealth ได้เลย

ดูวิดีโอย้อนหลัง

ย้อนดูดัชนีตลาดหุ้นไทย

คุณเผ่า: ย้อนกลับไปดูที่ดัชนี SET ผ่านช่วงจุดสูงสุด (All Time High) ประมาณปี 2560 แตะจุดสูงสุดที่ประมาณ 1,800 จุด และก็ขึ้นลงอยู่ในกรอบมาเรื่อยๆ จนมาเจอวิกฤติ Covid-19 ไทยเองก็ได้รับผลกระทบเยอะ เพราะการส่งออกและท่องเที่ยวที่หยุดชะงักไป ดัชนีตลาดหุ้นไทยก็ร่วงลงมาเช่นกัน แต่ก็ฟื้นขึ้นมาเร็วมาก หุ้นหลายตัวกลับขึ้นมา

คนคาดหวังว่าเศรษฐกิจจะกลับมาฟื้นตัวดีขึ้น แต่ก็พบว่ายังไม่ได้กลับมาเหมือนเดิม ต่อมา โรงงานต่างๆ ปิดตัว อุตสาหกรรมหลักๆ ของไทย รวมไปถึงภาคการเกษตรได้รับผลกระทบ ทำให้ตลาดหุ้นไทยค่อยๆ ตกลงมาเรื่อยๆ 

ถ้ามองภาพใหญ่ๆ ตลาดหุ้นจะขึ้นลงได้จาก 2 เรื่องใหญ่ๆ เรื่องแรกคือกำไรบริษัทจดทะเบียนเติบโตหรือไม่ และมุมมองของนักลงทุนที่มีต่อตลาดหุ้นไทยในอนาคต หรือความคาดหวังต่อหุ้นไทยจากนักลงทุนนั่นเอง

เพราะฉะนั้นถ้าเราไปดูเรื่องแรกคือ บริษัทที่จดทะเบียนในตลาด จะพบว่ากำไรต่อหุ้นไม่ได้เติบโตขึ้นเลย ผ่านมาไตรมาสแรกเทียบกับปีที่แล้ว กำไรต่อหุ้น (Earnings Per Share หรือ EPS) ของทุกบริษัทรวมกัน เติบโตเพียงแค่ 1% จะเห็นว่าเรื่องการเจริญเติบโตของธุรกิจ ประเทศไทยมีปัญหาจริงๆ อีกทั้งยังไม่มี Sector ใหญ่ๆ ที่จะช่วยพยุงให้ดัชนีตลาดหุ้นไทยเติบโตขึ้นได้ ไม่ได้ทำให้ภาพรวมของบริษัทจดทะเบียนมีกำไรเติบโตที่ดี

พอกำไรบริษัทจดทะเบียนไม่เติบโต นักลงทุนก็มองไม่ออกว่าประเทศไทยจะมี GDP ที่เติบโตขึ้นจากทางไหนบ้าง นโยบายจากรัฐจะเป็นอย่างไร แล้วรัฐบาลจะมีเสถียรภาพแค่ไหน เพราะความต่อเนื่องของรัฐบาลก็เป็นสิ่งที่สำคัญ ต้องรอดูกันต่อไป

อีกอย่างหนึ่ง ปัจจุบันการลงทุนในต่างประเทศง่ายขึ้นแล้ว ถ้าต่างชาติมองเข้ามาเทียบประเทศไทยกับประเทศอื่นๆ เช่น เวียดนาม อินเดีย ญี่ปุ่น หรือจีน พอมองแล้ว ประเทศไทยมีปัจจัยไม่มากพอที่จะเติบโตในอนาคต 

นักลงทุนต่างชาติเองก็รู้สึกว่าถอนออกไปก่อนดีกว่าไหม แม้กระทั่งนักลงทุนไทยเอง บางคนก็ขายหุ้นไทยออกมา แล้วก็ไปลงทุนต่อต่างประเทศ ไม่มีโอกาสได้กลับเข้ามา เพราะฉะนั้นแล้วความคาดหวังจากนักลงทุนก็เลยตกลง

มันก็เลยเหมือนเป็นคอมโบที่ทำให้ตลาดหุ้นไทยดิ่งลง เพราะนอกจากจะไม่เติบโตแล้ว ความคาดหวังจากนักลงทุนที่มีต่ออนาคตหุ้นไทยก็ยังแย่อีกด้วย

หุ้นไทยยังน่าสนใจอยู่หรือไม่  

คุณเผ่า: โดยเฉลี่ย 10 ปีที่ผ่านมา P/E อยู่ประมาณ 19 เท่า ปัจจุบันอยู่ประมาณ 17.5 เท่า เรียกได้ว่า P/E ลดลงมา แต่ P/E ที่ 17 เท่า ก็ยังไม่เรียกว่าถูก หากนำไปเทียบกับประเทศอื่น

ถ้ามองแล้ว P/E ที่ประมาณ 19 เท่า และปกติตลาดหุ้นไทยปันผลที่ 5% P/E ที่ 20 เท่า มันก็ยังสมเหตุสมผล แต่มันมีอีกเรื่องหนึ่งที่แทรกเข้ามาคือเรื่อง FED ต่างชาติเลยมองว่า ถ้าจะถือหุ้น P/E 20 ได้รับปันผลที่ 5% แต่พันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ ได้ปันผล 5% พอๆ กันและเสี่ยงต่ำกว่า ไปถือพันธบัตรสหรัฐฯ ที่ได้ปันผล 5% เท่ากัน แต่เสี่ยงน้อยกว่าดีกว่าไหม ต่างชาติเองก็เลยถอนออกไปด้วยเหตุผลนี้บ้างเหมือนกัน 

แต่ต้องบอกก่อนว่า เศรษฐกิจไทย ไม่ได้แย่ แค่ไม่เติบโต ไม่ใช่ว่าเศรษฐกิจจะล้มละลาย กำไรบริษัทจดทะเบียนยังมี ไม่ได้จะเจ๊ง แต่แค่มันไม่เติบโต พอไม่เติบโต มุมมองของนักลงทุนเลยถูกปรับความคาดหวังลง P/E จึงถูกปรับลงมา

แต่ในปัจจุบัน P/E 17 เท่า ถ้านักลงทุนต้องการลงทุน ก็พอจะทำได้ เพราะนั่นคือค่า P/E โดยรวม ยังมีกลุ่มหุ้นเล็ก โตเร็วบางตัวที่ P/E สูงอยู่ สามารถลงทุนได้ แต่ต้องเลือกให้ดี 

หุ้นไทยเทียบกับเพื่อนบ้าน

คุณอ้อ: ถ้าดูจาก P/E ของเรา เทียบกับเพื่อนบ้านเป็นอย่างไรบ้าง

คุณเผ่า: P/E ปัจจุบันของไทย ถ้าเทียบกับเพื่อนบ้าน เช่น ประเทศเวียดนาม มีความใกล้เคียงกันทั้ง P/E และดัชนีตลาดหุ้น แต่การเติบโตของเวียดนามสูงกว่าประเทศไทย อัตราการเติบโตของ GDP สูงกว่า นักลงทุนจึงมองว่าเวียดนามเป็นตัวเลือกในการลงทุนที่ดีกว่าไทย และพอมาเทียบกับประเทศจีน ก็มี P/E ต่ำกว่าประเทศไทยเช่นกัน 

และถ้ามองในมุมของ Sector ใหม่ๆ สหรัฐฯ ก็น่าสนใจกว่า สุดท้ายแล้ว การลงทุนในไทยก็ไม่ได้เลวร้าย แต่เมื่อเทียบกับประเทศอื่นๆ แล้ว ประเทศไทยค่อนข้างจะเสียเปรียบอยู่ในตอนนี้ 

ตามปกติแล้วจะไม่มีประเทศไหนที่เศรษฐกิจจะแย่ตลอด หุ้นตกตลอด ตราบใดที่เศรษฐกิจนั้นไม่ได้ล่มสลายไป พอถึงจุดหนึ่งมันจะถูกมากจนหุ้นมันจะเด้งขึ้นได้ อย่างที่เคยเกิดขึ้นในหลายๆ ประเทศ 

ยกตัวอย่างเช่นวิกฤติต้มยำกุ้งที่ผ่านมาหุ้นก็ตก แต่สุดท้ายมันก็จะขึ้นมา ถ้าเราเป็นนักลงทุนสิ่งที่เราต้องทำคือ คอยดูแนวโน้ม แล้วในวิกฤตินั้นมีหุ้นตัวไหนบ้างที่ยังราคาถูกและดีอยู่ อาจจะเป็นโอกาสของคุณก็ได้ 

แสงสว่างที่พูดถึงอยู่บ่อยๆ คือปกติแล้ว 10 ปี ตลาดหุ้นจะตกประมาณ 3 ปี ก็อาจจะมีลุ้นอยู่เหมือนกัน เพราะฉะนั้นถ้าคุณสามารถมองหาโอกาสในวิกฤติได้ หาหุ้นดีราคาถูกได้ นั้นก็จะเป็นโอกาสของคุณ อย่าง Jitta Ranking ที่มักจะทำผลตอบแทนได้ดีหลังวิกฤติเช่นกัน 

Jitta Ranking หุ้นไทยทำผลตอบแทนฝ่าวิกฤติ

คุณเผ่า: การลงทุนด้วย Jitta Ranking จะเห็นว่าในทุกๆ วิกฤติ เราสามารถทำผลตอบแทนได้ดี ถ้าดู Back Test ของเราตอนที่ยังไม่ได้เปิดตัว Jitta Wealth ในปี 2552 ที่เพิ่งผ่านวิกฤติ Subprime Mortgage Crisis ดัชนีตลาดหุ้นไทย SET Index ขึ้นไปถึง +71.40% แต่ถ้าเราเลือกหุ้นได้ดีแบบ Jitta Ranking เราอาจจะได้ผลตอบแทนที่ +116.01% เลย

และเมื่อปีหลังผ่านวิกฤติ Covid-19 ดัชนี SET Index อยู่ที่ +17.67% ส่วน Jitta Ranking หุ้นไทยทำผลตอบแทนเฉลี่ยได้ที่ +35.04% เพราะฉะนั้นเหรียญมีสองด้านเสมอ ในทุกวิกฤติ เราก็จะมีโอกาสได้

คุณอ้อ: เหมือน ‘จุดเริ่มต้นของจุดสิ้นสุด’ หรือเปล่า 

คุณเผ่า: ของไทยตอนนี้ต้องบอกว่า เรายังไม่ได้เห็นชัดๆ ว่าจุดจบมันอยู่ตรงไหน เพราะจริงๆ ปัญหาของไทยในปัจจุบัน เป็นปัญหาเชิงโครงสร้างระดับหนึ่ง มีหลายเรื่องที่ต้องแก้ไข ทั้งเรื่องเศรษฐกิจไม่เติบโต เรื่องที่ไม่มีความหวังในอนาคตจากมุมมองของนักลงทุน เรื่องผลตอบแทนเปรียบเทียบ รวมไปถึงเรื่องการเมืองที่อาจจะไม่มีเสถียรภาพ เพราะฉะนั้นเราก็ต้องเฝ้าระวังให้ดี 

ถ้าถามว่าประเทศไทยลงทุนได้ไหม โดยปกติถ้าตามหลักการการลงทุน ประเทศไทยถือว่าเป็น Home Country คุณควรจะต้องมีในพอร์ตบ้างอยู่แล้ว

แต่ในปัจจุบัน คุณลงหุ้นไทยไม่ได้ผิดอะไร แต่ถ้าลงหุ้นไทยเพียงหุ้นเดียว คุณอาจจะต้องคิดให้ถี่ถ้วนอีกที เพราะฉะนั้นตอนนี้ที่นักลงทุนถามว่าลงหุ้นไทยได้ไหม คำตอบคือ ลงทุนได้ แต่ไม่ควรนำเงินทั้งหมดลงในหุ้นไทย โดยเฉพาะคนที่รับความผันผวนได้ต่ำ เพราะเรายังตอบไม่ได้ว่าต้องรออีกกี่ปี นักลงทุนถึงจะกลับมาให้มูลค่าหุ้นไทย อาจจะปีหน้าเลยก็ได้ หรืออีกสองปี แต่มันจะมีปีที่มันขึ้น

แก้เกมด้วยการจัดพอร์ต Core & Satellite

คุณอ้อ: แล้วทีนี้จะจัดพอร์ตอย่างไร มีแนวทางอย่างไรบ้าง

คุณเผ่า: คือต้องบอกว่า ผลตอบแทนของนักลงทุนจริงๆ ภาพใหญ่ๆ 95% ของผลตอบแทน มาจาก Asset Allocation ที่ดี คือคุณถือทรัพย์สินที่ดีในปีที่ถูกต้อง คุณแทบไม่ต้องทำอะไรเลย

อย่างปีนี้ คุณแค่ถือเซมิคอนดักเตอร์ (SMH ETF) เพราะปีนี้เป็นปีที่ธีมเซมิคอนดักเตอร์มาแรงมาก ปีนี้คุณได้ผลตอบแทน 50% แล้ว โดยที่คุณไม่ต้องลงทุนหุ้นรายตัวเลย แค่รู้กลุ่มก็ได้แล้ว

เพราะฉะนั้นสิ่งที่ดีที่สุดคือการสร้างกลยุทธ์ในการกระจายความเสี่ยงให้เหมาะสมกับสถานะการลงทุนของคุณ 

ต้องบอกว่าหุ้นไทยที่ตกเยอะๆ ในปีนี้ แต่นักลงทุนไทยหลายคนเฉยๆ เพราะว่าบางคนเขาไปลงทุนต่างประเทศแล้ว หุ้นจากหลายๆ ประเทศก็ขึ้น เพราะฉะนั้นแล้ว นักลงทุนไทยกลุ่มนั้น ไม่ได้รู้สึกอะไรมาก ต่อให้เขาจะลงทุนในหุ้นต่างประเทศเพียง 20-30% ของพอร์ต แต่มันก็ช่วยพยุงกันได้

ถ้าเป็นหุ้นไทยก็เลือกให้ดี อาจจะไม่ตกเยอะมาก แล้วก็มองว่ายังได้ปันผล แต่ถ้าใครที่ลงหุ้นไทยอย่างเดียว โดยเฉพาะหุ้นที่ขนาดใหญ่ๆ และราคาแพงๆ ในปีนี้จะเจ็บหนัก เพราะว่ามันปรับตัวลงมาเยอะ ด้วยที่หุ้นใหญ่ๆ หลายตัวในปัจจุบัน ไม่ค่อยมีการเติบโตแล้ว แต่ถ้าคุณจัดทรัพย์สินไว้ได้ดี ก็จะสบายใจ 

ก็คือการกระจายความเสี่ยงไปยังสินทรัพย์อื่นๆ หรือแม้กระทั่งตลาดอื่นๆ ที่ลงทุนได้ ก็จะเป็นตัวช่วยให้เราไม่เครียดจนเกินไป เพราะปัจจุบันการลงทุนมัน Modernized และ Globalized ถ้าคุณมัวแต่ลงทุนในประเทศเดียว ก็จะเครียด 

เพราะฉะนั้นแล้วเรื่องแบบนี้ไม่ได้เกิดขึ้นเฉพาะเมื่อคุณลงทุนหุ้นไทย ถ้าลงประเทศเดียวมันอาจจะมีบางปีที่คุณเครียดหนักเหมือนกันถ้าลงทุนแบบไม่กระจายความเสี่ยง เพราะฉะนั้นสิ่งที่ดีก็คือ Asset Allocation

คุณอ้อ: ถ้าจะไม่ให้เครียด คุณเผ่ามีข้อแนะนำในการจัดพอร์ตอย่างไรบ้าง

คุณเผ่า: จริงๆ รูปแบบปัจจุบันที่เขาแนะนำกันคือรูปแบบ Core & Satellite 

Core & Satellite คือการแบ่งลงทุนเป็น พอร์ต Core กับพอร์ต Satellite ซึ่งพอร์ต Core คือ อันที่ได้ผลตอบแทนค่อนข้างดี แต่ผันผวนต่ำ มี Asset Allocation ที่ดี อาจจะเป็นหุ้น พันธบัตร หรือบางพอร์ตก็จะมีทองคำด้วย เป็นทรัพย์สินที่จะเติบโตไปเรื่อยๆ ทนต่อหลายๆ สภาวะ 

ส่วนพอร์ต Satellite คือพอร์ตหวังการเติบโต เป็นทรัพย์สินที่มีความเสี่ยงสูงขึ้น อาจจะเป็นหุ้นประเทศใดประเทศหนึ่งที่เราคิดว่าจะเติบโตได้ดีในระยะยาว แต่ในระยะสั้นอาจจะผันผวนก็เป็นได้ ยกตัวอย่างเช่น พอร์ตหุ้นจีน หุ้นเวียดนาม กลุ่มเทคโนโลยี หรือกลุ่มเซมิคอนดักเตอร์ 

สมมติเรามีพอร์ต Core ที่เป็น S&P 500 ประมาณ 80% ของพอร์ต แล้วปีนี้คุณรู้ว่าเซมิคอนดักเตอร์อาจจะมา หรือจะเป็นรถยนต์ไฟฟ้า (EV) ก็ได้ คุณก็เอามาเป็นพอร์ต Satellite อีก 20% 

แล้ว S&P 500 อาจจะขึ้น 8-9% เซมิคอนดักเตอร์หรือพอร์ตที่เราตั้งเป็น Satellite ขึ้นอีกประมาณ 50% พอร์ตโดยรวมเราก็จะเติบโตประมาณ 10%

แล้วการจัดพอร์ตแบบนี้ เราก็ต้องหมั่นรีวิวว่าพอร์ต Core ของเรายังถูกต้องอยู่หรือไม่ มีการทำ Asset Allocation อยู่หรือไม่ แล้วตัวหุ้นใน Satellite ยังมีการเติบโตอยู่ไหม ประเทศไหนมีการเติบโตมากกว่าเราไปทางนั้นดีไหม 

ซึ่งจากรูป จะมีเขียนสัดส่วนที่เหมาะสมไว้ให้อยู่แล้ว คือ Core 80% Satellite อีก 20% เรียกว่าเป็นสัดส่วนมาตรฐานของพอร์ต Core & Satellite 

รวมนโยบายลงทุนของ Jitta Wealth

คุณอ้อ: ขอดูภาพรวมของนโยบายลงทุน Jitta Wealth มีอะไรบ้าง แล้วเราจะสามารถนำนโยบายของเราไปจัดเป็นพอร์ต Core & Satellite อย่างไรได้บ้าง

คุณเผ่า: ปัจจุบันนโยบาย Jitta Wealth มี 4 นโยบาย ได้แก่ Jitta Ranking ที่ลงทุนหุ้นรายตัว รายประเทศ Thematic ที่ลงทุนในเมกะเทรนด์ Global ETF เป็นนโยบายที่ Asset Allocation ลงหุ้นดัชนีทั่วโลก และพันธบัตร และ Jitta Money ที่ลงพันธบัตรระยะสั้นสหรัฐฯ 

ถ้าลองมาจัดแบบพอร์ต Core & Satellite แบบ Jitta Wealth ก็จะเริ่มที่นโยบาย Global ETF เป็นหลัก ที่สามารถเป็นพอร์ต Core ได้ เพราะ Global ETF มี Asset Allocation การกระจายความเสี่ยงที่ดี พอร์ตทนทานทุกสถานการณ์ ผลตอบแทนคาดหวังของ Global ETF แผนเติบโตจะอยู่ที่ 8% ต่อปี 

แต่พวก Satellite แบบ Jitta Wealth จะเป็นนโยบาย Thematic เพราะความคาดหวังคือการเติบโต และสินทรัพย์ที่ลงทุนนั้นอยู่ในหมวดหมู่อุตสาหกรรมเทคโนโลยี 

หรือจะเป็นตัว Jitta Ranking ก็เป็น Satellite เช่นเดียวกันเพราะมีความเสี่ยงจาก การกระจุกตัวอยู่ เพราะถ้าคุณลงทุนแค่ในประเทศเดียว และถ้าหุ้นตกลงไป ก็ถือเป็น Satellite เพราะมีความผันผวนมากอยู่ 

ถ้าคุณเอาเงินไปลงทุนใน Jitta Ranking หุ้นสหรัฐฯ คุณก็ต้องเข้าใจความผันผวนที่จะเกิดขึ้น ไม่ผิดอะไร ถ้ารู้ว่าเงินของคุณไปอยู่ใน Satellite ที่ถูกต้องแต่ระหว่างทางคุณก็อาจจะต้องอดทนมากขึ้นหน่อย 

แต่ถ้าคุณทนไม่ได้คุณก็ต้องลองปรับพอร์ต Satellite ของคุณให้ดีขึ้น ตรงกับจริตของคุณมากขึ้น เพื่อให้คุณได้ผลตอบแทนที่ดี และสามารถรับความเสี่ยงนั้นได้เหมือนกัน 

คุณเผ่า: เรามีสัดส่วนที่อยากแนะนำมาให้ดูเป็นตัวอย่าง สำหรับใครที่เพิ่งเริ่มลงทุน จิตใจในการแบกรับความผันผวนยังไม่แข็งแรง ก็จัดสัดส่วนเป็น 20-80 เช่น พอร์ต Core เป็น Global ETF ไปก่อนเยอะๆ ประมาณ 80% แล้วอีก 20% เป็น Satellite เลือกเอากลุ่มสินทรัพย์ที่คิดว่ามีโอกาสเติบโตได้ เช่น Thematic Optimize ก็ได้เป็นต้น หรือจะเป็น Jitta Ranking เวียดนาม หรือจีนก็ได้ เพราะมีโอกาสเติบโตในปีนี้ 

แต่ถ้าใครที่อยากเสี่ยงมากขึ้นหน่อย ก็จัดสัดส่วนที่ 40-60 ได้ สำหรับคนที่อยากโตเร็วขึ้นมาหน่อย รับความเสี่ยงได้สูงมากขึ้นเลยก็จัดที่ 50-50 ได้ แต่ความผันผวนก็จะสูงขึ้นตามด้วย 

คุณอ้อ: แล้วถ้าใครมีพอร์ตหุ้นไทยอยู่จะจัดการอย่างไร 

คุณเผ่า: ถ้าคุณคิดว่าตลาดหุ้นไทยยังเติบโตได้ ก็ให้หุ้นไทยเป็น Satellite และไปหา Core พอร์ตที่กระจายความเสี่ยงมากขึ้น เป็นต้น 

กลยุทธ์ของ Global ETF 

คุณอ้อ: อยากให้คุณเผ่าลงลึกหน่อยว่าตัว Global ETF การลงทุนเป็นแบบไหน กลยุทธ์เป็นอย่างไรบ้าง 

คุณเผ่า: Global ETF ลงทุนตามกลยุทธ์ Asset Allocation ที่ลงทุนในทรัพย์สินที่หลากหลาย แตกต่างกันหลายมิติ ลงทุนใน ETF หุ้นและพันธบัตรรัฐบาล 

หุ้นจะเป็นทรัพย์สินที่ในระยะยาวได้ผลตอบแทนสูงสุด ส่วนพันธบัตรรัฐบาลเป็นทรัพย์สินที่ให้ผลตอบแทนรองลงมาจากหุ้น แต่จะไม่ผันผวนเท่าหุ้น ถ้าคุณถือหุ้นอย่างเดียวอาจจะได้รับผลตอบแทนสูง แต่ความเสี่ยงก็จะสูงไปด้วย แต่ถ้าคุณถือพันธบัตรรัฐบาลอย่างเดียว คุณจะได้รับผลตอบแทนต่ำ แต่ความเสี่ยงก็จะต่ำ 

Asset Allocation คือการจัดสัดส่วนทรัพย์สิน 2 อย่างนี้ให้ดี ซึ่งเราจะใช้ทฤษฎี Modern Portfolio Theory ที่สามารถทำผลตอบแทนได้สูงที่สุด ด้วยความเสี่ยงที่ต่ำที่สุด และได้รับการยอมรับมานานมาก เป็นทฤษฎีที่ได้รับรางวัลโนเบล

แต่สมัยก่อนทำได้ยากเพราะต้องใช้เงินจำนวนมาก เนื่องจากว่าต้องซื้อหุ้นหลายตัวในหลากหลายประเทศ เพื่อกระจายความเสี่ยง อีกทั้งยังต้องซื้อพันธบัตรหลายๆ แบบ

แต่ปัจจุบันนั้นทำได้ ไม่ยากแล้ว เพราะมีการเข้ามาของ ETF ที่ทำให้คุณซื้อหุ้นสหรัฐฯ ทั้งประเทศได้ ด้วยเงินจำนวนน้อย อีกทั้งยังสามารถแบ่งซื้อเป็นเศษหุ้นได้อีกด้วย

คุณอ้อ: ขอย้อนกลับไปทบทวนเล็กน้อยว่า แล้ว ETF คืออะไร

คุณเผ่า: พูดง่ายๆ คือกองทุนที่เอาไปทำให้ซื้อขายได้เหมือนหุ้น คุณสามารถซื้อกองทุนผ่านตลาดหุ้นได้เลย เหมือนเป็นพอร์ตหุ้น 

ยกตัวอย่างเช่น เรารู้ว่าหุ้นจีนถูก อยากได้ แต่เลือกหุ้นรายตัวไม่เป็น แต่พอเราไปซื้อ MCSI ETF ก็คือเหมือนเราถือหุ้นจีนกว่า 700 ตัว และผลตอบแทนก็จะมาตามตลาดหุ้นจีน

คุณอ้อ: เรียกได้ว่าตัว ETF จะรวบรวมหุ้นทุกตัวในแต่ละหมวดหมู่ แต่ละธีม หรือแต่ละดัชนีไว้ให้เลย 

คุณเผ่า: หรือสมมติเรารู้ว่าเซมิคอนดักเตอร์มันจะโต แต่เราไม่รู้จะซื้อหุ้นของบริษัทไหนดี เราก็สามารถซื้อ SMH ETF มันก็จะไปซื้อหุ้นที่เป็นเซมิคอนดักเตอร์ทั้งหมดให้เรา โดยที่เราไม่ต้องเลือกเอง ทำให้ลดความเสี่ยงได้เยอะ แต่แค่ขอให้รู้ว่าทรัพย์สินอะไรกำลังจะมา

คุณอ้อ: เพราะฉะนั้นราคาของ ETF ก็จะเหมือนกับราคาของหุ้น เพราะมันอยู่ในตลาดหุ้น แล้วสามารถทำการซื้อขายได้เลย นอกจากนี้ก็สามารถกระจายซื้อเศษหุ้นได้หรือที่เรียกว่า Fractional Shares

คุณเผ่า: ขอย้อนกลับไปที่ Global ETF เล็กน้อย หลายคนอาจจะสงสัยว่าทำไมต้องลงทุนใน ETF หุ้นและพันธบัตร ต้องบอกก่อนว่า Asset Allocation สามารถจัดพอร์ตได้หลากหลาย หลายสินทรัพย์ แต่จากข้อมูลที่เรามี และ Jitta Wealth ได้จำลองพอร์ตทั้งหมดแล้ว เราสามารถถือแค่หุ้นและพันธบัตรก็ได้ เพราะในระยะยาวทรัพย์สินอื่นๆ มักมีผลตอบแทนน้อยกว่าสินทรัพย์ 2 ประเภทนี้ 

อย่าง Warren Buffett เองก็เขียนในพินัยกรรมว่าเขาจะถือ S&P 500 กับพันธบัตรรัฐบาลระยะกลางสหรัฐฯ 

ซึ่ง Global ETF ของ Jitta Wealth ก็จะมี 3 แผนด้วยกันที่มีความเสี่ยงที่ต่างกันสัดส่วนที่ต่างกัน 

  • Global ETF แผนพอเพียง ผลตอบแทนคาดหวัง 4% ต่อปี ลงทุนใน ETF หุ้น 20% และ ETF ตราสารหนี้ 80% เหมาะสำหรับผู้ที่รับความเสี่ยงได้ต่ำ 
  • Global ETF แผนสมดุล ผลตอบแทนคาดหวัง 6% ต่อปี ลงทุนใน ETF หุ้น 50% และ ETF ตราสารหนี้ 50% เหมาะสำหรับผู้ที่รับความเสี่ยงได้ปานกลาง
  • Global ETF แผนเติบโต ผลตอบแทนคาดหวัง 8% ต่อปี ลงทุนใน ETF หุ้น 80% และ ETF ตราสารหนี้ 20% เหมาะสำหรับผู้ที่รับความเสี่ยงได้สูง

แล้วย้อนกลับไปที่เราคุยกันเรื่องพอร์ต Core ที่ดีคือพอร์ตที่มี Asset Allocation ที่ดี ที่ไม่ว่าจะเกิดอะไรขึ้น พอร์ตนี้จะเอาตัวรอดได้ และเติบโตขึ้นเรื่อยๆ 

แล้ว ETF หุ้น ของ Global ETF เองคือการลงทุนทั่วโลก ก็เป็นการกระจายความเสี่ยงอีก   

คุณอ้อ: เราลองมาสรุปกันว่าผลตอบแทนคาดหวังกับผลตอบแทนที่ได้จริง ที่แต่เปิดนโยบายมาตอนนี้อยู่ที่เท่าไหร่ 

คุณเผ่า: ผลตอบแทนเฉลี่ย Global ETF ตั้งแต่เปิดนโยบาย เริ่มที่แผนพอเพียง ผลตอบแทนคาดหวังคือ 4% ต่อปี ผลตอบแทนตั้งแต่เปิดนโยบายมาทำได้ที่ +12.74% แผนสมดุล ผลตอบแทนคาหวังคือ 6% ต่อปี ผลตอบแทนตั้งแต่เปิดนโยบายมาทำได้ที่ +23.75% และแผนเติบโต ผลตอบแทนคาดหวังตั้งแต่เปิดนโยบายทำได้ที่ +42.75% 

(ข้อมูล ณ วันที่ 31 พฤษภาคม 2567)

คุณอ้อ: เรียกว่า Global ETF เป็นพอร์ตลูกรักของนักลงทุนหลายๆ คน 

คุณสามารถอ่านเพิ่มเติมถึงความแข็งแกร่งฝ่าทุกวิกฤติของ Global ETF ได้ที่นี่

Jitta Money พักเงินก่อนลุยต่างประเทศ 

คุณเผ่า: Jitta Money เป็นนโยบายที่เหมาะสำหรับการเป็นพอร์ต Core ระยะสั้นได้ เพราะ Jitta Money จริงๆ แล้วเป็นเหมือนที่พักเงิน สมมติเราอยากจะเก็บเงินเพื่อไปลงทุน หรือกำลังลังเลว่า Satellite จะไปอยู่ตรงไหนดี ก็ลงทุนตรงนี้ไปก่อน

ซึ่ง Jitta Money ก็คือ การลงทุนใน ETF เช่นเดียวกัน แต่เป็น ETF ที่ลงทุนในพันธบัตรรัฐบาลระยะสั้นของสหรัฐฯ เพราะฉะนั้นความผันผวนจะค่อนข้างต่ำ ซึ่งนโยบาย Jitta Money ก็จะลง ETF 2 ตัวเป็นการกระจายความเสี่ยงเช่นกัน เพราะเราไม่มีทางรู้ว่าจะเกิดอะไรขึ้น ผลตอบแทนล่าสุดอยู่ที่ +5.16% (ณ วันที่ 8 มีนาคม 2567) เป็นผลตอบแทนที่คำนวณจาก 30-Day SEC Yield หลังหักค่าธรรมเนียมต่างๆ แล้ว 

กลยุทธ์ DCA ถัวไม่ให้ติดดอย

คุณเผ่า: DCA คือ Dollar Cost Averaging การลงทุนแบบสม่ำเสมอ ต้องบอกว่าที่เราพูดๆ มาทั้งหมดเป็นการกระจายความเสี่ยงในประเภทของสินทรัพย์ แต่สินทรัพย์อย่างหุ้นที่ผันผวนเยอะ เราไม่รู้ว่าตอนที่เราลงทุนมันคือจุดสูงสุด ต่ำสุดอย่างไร แต่เรารู้ว่าระยะยาวตลาดหุ้นจะเป็นขาขึ้น การ DCA คือการกระจายความเสี่ยงด้านราคา เราไม่ต้องมาค่อยคิดว่าเข้าถูกหรือผิดจังหวะ 

การ DCA มีข้อดีถึง 3 อย่างด้วยกันคือ เงินต้นจะเพิ่มขึ้นแบบค่อยๆ เป็นค่อยๆ ไป ถ้าลงทุนในสินทรัพย์ที่ถูกต้องมีการกระจายความเสี่ยงที่ดี การ DCA ก็จะทำให้ผลตอบแทนทบต้นดีกว่าไม่ DCA และระยะเวลาในการลงทุนจะยาวขึ้น เพราะคุณจะไม่กดดันในความผันผวน 

แต่การ DCA ก็มีกฎที่ควรทำคือ ควร DCA ในสินทรัพย์ที่ดีที่มีโอกาสเติบโตในระยะยาว เพราะ DCA ในสินทรัพย์ที่ผิดก็ไม่ดี 

DCA กับ Core & Satellite

คุณเผ่า: ยกตัวอย่างพอร์ต Global ETF และ Thematic Optimize ที่เป็นการลงทุนในธีมเมกะเทรนด์ มีความผันผวนสูง แต่ระยะยาวเติบโต อย่างในตัวอย่าง ถ้าเริ่มจากเงินเริ่มต้นลงทุน 100,000 บาท ให้แบ่งเงินลงทุนก้อนแรกออกเป็น 2 กองคือ 80,000 บาท และ 20,000 บาท และหลังจากนั้นเรา DCA ทุกเดือนตามสัดส่วน Core & Satellite คือ 8,000 บาท และ 2,000 บาท 

ถ้าคุณทำอย่างนี้ไปเรื่อยๆ ผ่านไป 20 ปี เงินก็จะเติบโตเป็น 7,164,729 ล้านบาท ผลตอบแทนเฉลี่ย 9.33% ต่อปี ซึ่งผลตอบแทนเฉลี่ยของพอร์ตอาจจะไม่ได้เยอะเท่าการลงทุนใน Thematic Optimize อย่างเดียว แต่ความผันผวนในปีที่ไม่ดีก็จะน้อยด้วย และจะเครียดน้อยกว่าด้วย 

คุณสามารถตั้งค่าฝากเงินอัตโนมัติ (DCA) ได้แล้วในแอป Jitta Wealth 

สรุปแนวทางลงทุนฝ่าความผันผวน

คุณเผ่า: ทั้งหมดนี้คือหลักการเพื่อลงทุนฝ่าความผันผวนของตลาดหุ้น และเศรษฐกิจทั้งโลก ไม่ใช่แค่หุ้นไทยเพียงตลาดเดียว เพราะสิ่งที่นักลงทุนรู้สึกกับตลาดหุ้นไทยตอนนี้ หลายๆ ครั้งนักลงทุนที่ลงทุนในตลาดอื่นๆ ก็รู้สึกเช่นกัน เพราะทุกทรัพย์สินที่เป็นหุ้นมีความผันผวนอยู่แล้ว เป็นวัฏจักรของมัน เพราะฉะนั้นวันนี้เราอาจจะรู้สึกว่าหุ้นไทยผันผวน วันหน้าหุ้นต่างประเทศก็จะผันผวนได้ จริงๆ แล้วหลักการนี้ใช้ได้หมด 

อย่างแรกที่สุดคือต้องทบทวนพอร์ตของตัวเอง เมื่อไหร่ที่รู้สึกตึงเครียด แสดงว่าพอร์ตของคุณยังถูกจัดไม่เหมาะสมตามความเสี่ยงที่คุณรับได้ เลยต้องไปข้อต่อมาคือ ต้องปรับพอร์ตใหม่เพื่อกระจายความเสี่ยงว่าจะอยู่ในทรัพย์สินอะไรบ้าง แบ่งสัดส่วนอย่างไร จากนั้นคือพยายามจัดพอร์ต Core & Satellite ว่าจะต้องกระจายทรัพย์สินหลายๆ อย่างแบ่งพอร์ต Core เป็นเท่าไหร่ เป็น Satellite เท่าไหร่ และเมื่อจัดพอร์ตได้แล้ว ก็เหลือแค่วินัย DCA ที่คุณต้องมี 

สุดท้ายคุณจะทำผลตอบแทนได้ดีกว่านักลงทุนทั่วไป เพราะคุณคิดอย่างเป็นระบบ มีการกระจายความเสี่ยงอย่างถูกต้อง จัด Core & Satellite ถูกต้อง และ DCA อย่างมีวินัย และปัจจุบันนี้มีเทคโนโลยีเพื่ออำนวยความสะดวกให้คุณมากมาย และ Jitta Wealth ก็เป็นหนึ่งในนั้น

การลงทุนมีความเสี่ยงอยู่แล้ว แค่คุณจะจัดการความเสี่ยงนั้นยังไงให้คุณสามารถลงทุนได้ในระยะยาวอย่างมีความสุข

ถ้าใครฟังมาทั้งหมดแล้ว สนใจอยากเริ่มลงทุน มือใหม่ที่กำลังตัดสินใจอยู่อาจจะได้คำตอบแล้ว ก็สามารถเริ่มต้นลงทุนได้เลย หรืออยากสอบถามเพิ่มเติมได้ที่ 02-460-8888 หรือ Line @JittaWealth ในช่วงเวลาทำการได้เลย


อ่านรีวิวพอร์ตลงทุน Jitta Wealth ของนักลงทุนอีกมากมายได้ที่ Facebook และ เว็บไซต์ของเรา


บทความที่เกี่ยวข้อง

DCA 10 ปี พอร์ตจะโตแค่ไหน 

3 วิธีสร้างวินัย ออมเงินยังไงให้ DCA ได้

สรุป Live ทางลัดนักลงทุน นับหนึ่งให้ถึงล้าน