Skip to content - ข้ามไปที่เนื้อหา
Blog

ทำไมตลาดหุ้นปี 2565 ไม่เป็นขาขึ้นตาม ‘ทฤษฎี January Effect’


Jitta Ranking Jitta Wealth

เนื้อหาสำคัญ

ไฮไลต์

  • ทฤษฎี January Effect เกิดขึ้นจากข้อสังเกตที่ว่า เดือนมกราคมจะเป็นเดือนที่ผลตอบแทนจากตลาดหุ้นเป็นขาขึ้นเมื่อเทียบจากเดือนธันวาคมส่งท้ายปี นักลงทุนหลายคนมองว่า เป็นเดือนที่ดีในการซื้อหุ้นเข้าพอร์ต 
  • ทำไมตลาดหุ้นในช่วงเดือนมกราคมถึงเป็นขาขึ้น มีเหตุผลสนับสนุน เช่น การขายหุ้นออกของนักลงทุนทั่วโลก เพื่อช่วยลดภาระเรื่องภาษี กองทุนต่างๆ ต้องการแต่งรายงานประจำปีให้ดูดี นักลงทุนขายหุ้น เพื่อทำกำไรก่อนเทศกาลปีใหม่ เป็นต้น 
  • ทีมงาน Jitta Wealth รวบรวมสถิติย้อนหลัง 4 ดัชนีตลาดหุ้นในช่วง 10 ปี ช่วงปี 2556-2565 เปรียบเทียบดัชนีปิดสิ้นปีกับดัชนีปิดสิ้นเดือนมกราคม พบว่า ทฤษฎีนี้ ไม่ได้เกิดขึ้นทุกปี ขึ้นอยู่กับสถานการณ์เศรษฐกิจและการลงทุนในช่วงเวลานั้น บางปีตลาดหุ้นมีการเก็งกำไรเยอะ ดัชนีก็ผันผวนได้ บางปีเศรษฐกิจดีมากๆ ตลาดหุ้นจึงเป็นขาขึ้น ดังนั้นทฤษฎีไม่ใช่ข้อพิสูจน์ว่า ตลาดหุ้นต้องเป็นขาขึ้นในเดือนมกราคมเท่านั้น
  • หลักการลงทุนระยะยาว จะวัดแค่ ‘ทฤษฎี January Effect’ เทียบกับความเคลื่อนไหวของตลาดหุ้นเพียงเดือนเดียวไม่ได้ พอผ่านเข้าสู่ไตรมาสที่ 2 ก็มีทฤษฎี Sell in May and go away มาให้พิสูจน์กันอีก จริงๆ แล้วการลงทุนในระยะ 5-10 ปี หรือนานกว่านั้น คุณจะเผชิญเหตุการณ์เหล่านี้ในบางปี ซึ่งเป็นภาวะปกติ

คุณรู้สึกหรือไม่ว่า ทำไมเดือนมกราคมมันช่างยาวนานเหลือเกิน ยิ่งตลาดหุ้นเป็นขาลง มูลค่าพอร์ตลดลง ยิ่งสร้างความกังวลจนกว่าผ่านไปแต่ละวันได้…มันช่างยากลำบาก

หากคุณเคยมีความรู้สึกเหล่านี้ ไม่ต้องแปลกใจไป เพราะไม่ใช่คุณคนเดียว จริงๆแล้ว ภาวะนี้เป็นเรื่องของเหตุและผล เรียกได้ว่าเป็น January Crisis ที่ William Skylar นักวิจัยของมหาวิทยาลัย Cambridge อธิบายเอาไว้ว่า สมองของเราและเวลาในโลกแห่งความจริงนั้นไม่เท่ากัน 

สมองของเรามีฮอร์โมนที่เรียกว่า Dopamine ที่หลั่งออกมาเมื่อเกิดความสุข และมันทำให้นาฬิกาในสมองของคุณเดินเร็วขึ้น 

เดือนมกราคมเป็นเดือนต่อจากธันวาคม ที่เป็นช่วงเวลาแห่งเทศกาลเฉลิมฉลอง ทุกคนสนุกสนานและมีความสุข ดังนั้นเดือนธันวาคมก็ผ่านไปอย่างรวดเร็ว เมื่อเข้าเดือนมกราคม คุณถึงรู้สึกว่า สีสันแห่งความสุขในชีวิตหม่นหมองไป และรู้สึกว่าเวลามันผ่านไปช้าเหลือเกิน 

ภาวะนี้กลับเป็นทิศทางตรงกันข้ามกับความเคลื่อนไหวในตลาดหุ้น เพราะเดือนมกราคมอาจจะเป็นเดือนที่นักลงทุนทั่วโลกตั้งหน้าตั้งตารอจังหวะที่ตลาดหุ้นขาขึ้น เป็นช่วงเวลาที่จะปรับพอร์ตและเพิ่มเงินลงทุน 

ในโลกการลงทุน มี ‘ทฤษฎี January Effect’ เดือนทองแห่งการลงทุน จากข้อสังเกตที่ว่า เดือนมกราคมจะเป็นเดือนที่ผลตอบแทนจากตลาดหุ้นเป็นขาขึ้นเทียบจากเดือนธันวาคมส่งท้ายปี นักลงทุนหลายคนมองว่า เป็นเดือนที่ดีในการซื้อหุ้นเข้าพอร์ต

ทฤษฎีนี้ไม่ได้เป็นเรื่องใหม่ที่เพิ่งค้นพบ แต่ถูกตั้งเป็นข้อสังเกตมานานแล้วเกือบ 80 ปี ตั้งแต่ปี 2485 โดย Sidney B. Wachtel เป็น Investment Banker บอกว่า ราคาหุ้นในเดือนมกราคมมีแนวโน้มที่จะเพิ่มมากขึ้นกว่าเดือนอื่นๆ หรือเมื่อเทียบกับเดือนธันวาคม

เหตุผลสนับสนุน ‘ทฤษฎี January Effect’ 

หลายๆ คนพยายามอย่างมาก ที่จะหาเหตุผลมาอธิบายทฤษฎีนี้แต่ก็พบคำตอบว่า ไม่มีคำอธิบายไหนที่ถูกต้องทั้งหมด โดยทีมงาน Jitta Wealth รวบรวมสรุปสั้นๆ ดังนี้

  • การจัดเก็บภาษีกำไรจากการขายหุ้น (Capital Gains Tax) ในหลายๆ ประเทศ ทำให้นักลงทุนใหญ่ๆ มักขายหุ้นที่ขาดทุนออกก่อนสิ้นปี หรือในช่วงเดือนธันวาคม เพื่อไม่ให้กระทบกับกำไรที่ได้จากหุ้นที่มีผลตอบแทนดี การทำแบบนี้จะช่วยลดการเสียภาษีของกำไรจากการขายหุ้น และหลังจากนั้นจึงซื้อหุ้นคืนในเดือนมกราคม 
  • บรรดากองทุนต่างๆ ต้องการตกแต่งรายงานประจำปีให้ออกมาดูดี ด้วยการขายหุ้นออกจากพอร์ตในเดือนธันวาคม และซื้อกลับในเดือนมกราคม 
  • นักลงทุนจะขายทำกำไรจากการลงทุนช่วงสิ้นปีก่อนวันหยุดยาว และในช่วงเดือนมกราคมจะกลับเข้ามาลงทุนใหม่อีกครั้งในสินทรัพย์ที่มีราคาดี 
  • บางคนเชื่อว่า เกิดจากที่คนทั่วไปได้รับโบนัสสิ้นปีในเดือนมกราคมและนำมาลงทุนในตลาดหุ้น หรือนักลงทุนบางคนอาจจะใช้ปีใหม่เป็นเครื่องเตือนใจในการจัดพอร์ตลงทุนหรือเริ่มต้นลงทุน 

สถิติย้อนหลังของ ‘ทฤษฎี January Effect’ เกิดขึ้นบ่อยแค่ไหน 

ทีมงาน Jitta Wealth รวบรวมสถิติย้อนหลัง 10 ปี ช่วงปี 2556-2565 ของ 4 ดัชนีตลาดหุ้นที่นโยบาย Jitta Ranking ใช้เป็นดัชนีอ้างอิง ได้แก่ ดัชนี SET50 ดัชนี VNI ดัชนี CSI300 และดัชนี S&P500 

โดยจะเก็บสถิติจากดัชนีตลาดหุ้นสิ้นปีก่อนหน้า มาเปรียบเทียบกับดัชนีปิดสิ้นเดือนมกราคมปีถัดมา เพื่อมาคำนวณว่า แต่ละตลาดหุ้นมีปรากฎการณ์ตลาดหุ้นขาขึ้นในช่วงเดือนแรกของแต่ละปีบ่อยครั้งหรือไม่

ทีมงาน Jitta Wealth ค้นพบว่า ทฤษฎี January Effect ไม่ได้เกิดขึ้นทุกปี ในแต่ละตลาดหุ้นก็ไม่ได้เกิดขึ้นเหมือนๆ กัน หรือโอกาสที่จะเกิดขึ้นก็ไม่เท่ากันเลยด้วยซ้ำ 

January Effect
SET50
  • สถิติย้อนหลังของดัชนี SET50 ตลอด 10 ปีที่ผ่านมา พบว่า 80% หรือ 8 ใน 10 ปีที่ดัชนีเป็นขาขึ้นตามทฤษฎี 
  • ดัชนี SET50 ปิดสิ้นปีก่อนหน้ากับปิดสิ้นเดือนมกราคม จะมีความเปลี่ยนแปลงไม่มากไปกว่า +5% นั่นหมายความว่า ต่อให้ตลาดหุ้นขาขึ้นในเดือนมกราคมถึง 80% ตลอด 10 ปีที่ผ่านมา แต่คุณจะได้ผลตอบแทนจากเหตุการณ์นี้ไม่เกิน +5% 
  • ปี 2565 มีรายงานว่า โอกาสเกิดทฤษฎีนี้ในตลาดหุ้นไทย จากปัจจัยสนับสนุนต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยที่คาดว่าจะดีกว่าประเทศเพื่อนบ้านได้ และเม็ดเงินลงทุนต่างชาติไหลเข้ามาลงทุนอย่างต่อเนื่อง ซึ่งก็เป็นไปตามที่คาดการณ์ แต่สิ้นเดือนมกราคมปรากฎว่า ดัชนี SET50 เพิ่มขึ้นเพียง +0.26% เท่านั้น 
  • 2 ปีที่ดัชนี SET50 ขาลง คือ ปี 2557 และ 2563 ซึ่งเป็นปีที่เกิดเหตุการณ์ต่างๆ ที่สร้างความผันผวนให้กับตลาดหุ้นไทย เช่น การชุมนุมทางการเมือง ปี 2557 และโรคระบาด Covid-19 ปี 2563 ทำให้ดัชนี SET50 เป็นขาลงตามตลาดหุ้นไทย 
VNI
  • สถิติย้อนหลังของดัชนี VNI ตลอด 10 ปีที่ผ่านมา พบว่า 60% หรือ 6 ใน 10 ปี ที่ดัชนีเป็นขาขึ้นตามทฤษฎี 
  • แต่ละปีที่เกิดปรากฏการณ์นี้ ดัชนี VNI ปิดสิ้นปีก่อนหน้ากับปิดสิ้นเดือนมกราคมแตกต่างกันมาก มีความเปลี่ยนแปลงเป็นบวกสูงสุดถึง +15.97% และเปลี่ยนแปลงเป็นลบต่ำที่สุดคือ -5.83% 
  • ตั้งแต่ปี 2563 เป็นต้นมา ไม่เกิดทฤษฎีนี้ ในดัชนี VNI 3 ปีติดต่อกัน ซึ่งคาดว่าจะเกิดจากสถานการณ์ Covid-19 ในปี 2563 แต่ปี 2564 ดัชนี VNI เป็นขาขึ้น ทำนิวไฮ 4 ครั้งภายในปีเดียว เพียงแต่ไม่ได้เกิดขึ้นในเดือนมกราคมเท่านั้น ส่วนในปี 2565 คงต้องลุ้นว่า ภาพรวมตลาดหุ้นเวียดนามจะยังเป็นขาขึ้นต่อเนื่องจากปี 2564 หรือไม่
  • สถิติย้อนหลังของดัชนี CSI300 ตลอด 10 ปีที่ผ่านมา พบว่า มีเพียง 50% หรือ 5 ใน 10 ปี ที่เดัชนีเป็นขาขึ้นตามทฤษฎี 
  • โอกาสเกิดทฤษฎีตลาดหุ้นขาขึ้นในเดือนมกราคม สำหรับดัชนี CSI300 มีอยู่ครึ่งต่อครึ่งในรอบ 10 ปี 
  • ความเปลี่ยนแปลง เทียบจากดัชนี CSI300 ปิดสิ้นปีก่อนหน้ากับปิดสิ้นเดือนมกราคม ผันผวนสูงที่สุดอยู่ที่ -21.04% ในปี 2559 เนื่องจากช่วง 2557-2559 ตลาดหุ้นจีนมีความผันผวนสูง จากการเก็งกำไรของนักลงทุนทั่วโลก จนทำให้รัฐบาลจีนต้องออกกฎเกณฑ์ควบคุมในช่วงเวลานั้น
  • ปี 2565 ดัชนี CSI300 ยังเป็นขาลงตามภาวะตลาดหุ้นทั่วโลก ทั้งๆ ที่เศรษฐกิจจีนปี 2564 ยังมีการเติบโตอยู่
  • สถิติย้อนหลังของดัชนี S&P500 ตลอด 10 ปีที่ผ่านมา พบว่า 40% หรือ 4 ใน 10 ปีเท่านั้นที่ดัชนีเป็นขาขึ้นตามทฤษฎี 
  • ทฤษฎีตลาดหุ้นขาขึ้นในเดือนมกราคมของดัชนี S&P500 มีโอกาสไม่ถึงครึ่ง โดยมีความเปลี่ยนแปลงจากดัชนีปิดสิ้นปีก่อนหน้ากับปิดสิ้นเดือนมกราคม สูงสุดอยู่ที่ +7.87% ในปี 2562 และต่ำสุดอยู่ที่ -5.26% ซึ่งก็คือปี 2565 นั่นเอง 

ทฤษฎี January Effect คาดการณ์ได้ยาก 

หากดูจากสถิติย้อนหลัง 10 ปีที่ผ่านมาจะเห็นได้ว่า ทฤษฎี January Effect ไม่ได้เกิดขึ้นทุกๆ ปี และแต่ละตลาดหุ้นก็ไม่ได้เกิดขึ้นเหมือนๆ กันในทุกๆ ปีด้วย 

ทั้ง 4 ดัชนีตลาดหุ้นที่ทีมงาน Jitta Wealth รวบรวมมาในช่วงปี 2556-2565 จะเห็นว่า ดัชนี SET50 เป็นขาขึ้นในช่วงเดือนมกราคมมากที่สุดถึง 80% ส่วนดัชนี S&P500 เป็นขาขึ้นในช่วงเดือนมกราคมน้อยที่สุด เพียง 40% ในรอบ 10 ปี 

ประเด็นคุณอาจจะตั้งคำถาม คือ แล้วจะคาดการณ์ได้อย่างไร ว่าปีนั้นๆ ตลาดหุ้นจะเป็นขาขึ้นในเดือนมกราคม

จริงๆ แล้วมันมีปัจจัยแวดล้อมหลายๆ อย่าง ซึ่งมีผลต่อเนื่องกัน ถ้าคุณมองภาพออก คุณอาจจะคาดการณ์ได้ แต่ก็ไม่ได้แปลว่า คาดการณ์ได้ถูกต้องทุกๆ ครั้ง เช่น

  • เศรษฐกิจโลกหรือรายประเทศมีทิศทางที่ดี มีการเติบโตในด้านต่างๆ ในช่วงปลายปีต่อเนื่องมาจนถึงต้นปี ตลาดหุ้นประเทศนั้นก็จะเป็นขาขึ้นในเดือนมกราคมได้
  • หากเกิดจากแรงเทขายหุ้นทำกำไรจากหุ้นเติบโต (Growth Stock) ในช่วงเดือนธันวาคม ทำให้ตลาดหุ้นเป็นขาลง พอเข้าสู่เดือนมกราคม อาจจะเกิดแรงซื้อหุ้นกลับ ทำให้ดัชนีตลาดหุ้นพลิกกลับมา ก็มีโอกาสเกิดขึ้นได้ 
  • แต่ก็ไม่ได้แปลว่า แรงซื้อหุ้นกลับจะเกิดในเดือนมกราคมเพียงเดือนเดียวเท่านั้น มันอาจจะไม่เกิดขึ้นในเดือนมกราคม แต่ไปเกิดขึ้นในเดือนต่อๆ ไปก็ได้เช่นกัน
  • ภาวะเศรษฐกิจหดตัวหรือถดถอย ตลาดหุ้นจะเป็นขาลงตามๆ กัน ดังนั้นทฤษฎีนี้จะใช้ในบริบทนี้ไม่ได้

จากสถิติดัชนีตลาดหุ้น 10 ปี คุณจะเห็นว่า ตลาดหุ้นขาขึ้นในเดือนมกราคมของแต่ละประเทศ ต่างมีปัจจัยแวดล้อมที่ไม่เหมือนกันเลย บางตลาดหุ้นเป็นขาลง เพราะแรงกดดันจากรัฐบาลและสภาพเศรษฐกิจ บางตลาดหุ้นเป็นขาขึ้น เพราะมีหุ้นเติบโตเยอะมาก แรงเทขายทำกำไรและเข้าซื้อกลับเกิดขึ้นได้เสมอ

นั่นหมายความว่า หากคุณคาดเดาทิศทางตลาดหุ้นให้สอดคล้องกับทฤษฎี January Effect ในแต่ละปีได้ แต่จะถูกต้องหรือไม่…ก็ต้องรอให้ถึงเวลานั้นอีกที

แต่ถ้าคุณคาดเดาทิศทางตลาดหุ้นไม่ได้ ตลาดหุ้นขาลงในเดือนมกราคมก็เป็นแค่ช่วงเวลา 1 เดือนเท่านั้น เวลาผ่านไปคุณก็ต้องเผชิญ Sell in May and go away ในเดือนพฤษภาคม หรือภาวะตลาดหุ้นขาลงในเดือนสิงหาคม ที่เป็นสถิติต่ำสุดของปี

หากพอร์ตลงทุนของคุณมีเป้าหมายลงทุนระยะยาว มูลค่าที่ลดลงในช่วงเวลาสั้นๆ เพียง 1 เดือน ไม่ว่าจะเป็นช่วงเวลาไหนของปี ไม่สามารถวัดผลได้ เพราะต่อให้คุณไม่เจอภาวะผันผวนในเดือนมกราคม คุณก็อาจจะไปเจอความไม่แน่นอนในเดือนต่อๆ ไปได้เช่นกัน 

หัวใจของการลงทุนระยะยาว คือ คุณภาพสินทรัพย์ที่คุณลงทุนอยู่ในพอร์ต เพราะต่อให้เจอความไม่แน่นอนอีกสักกี่ครั้ง หุ้นที่ดีหรือ ETF ที่มีโอกาสเติบโต ก็จะยืดหยัดต่อได้ เมื่อตลาดหุ้นกลับเข้าสู่ภาวะปกติ

หากมองอีกด้าน ภาวะที่ตลาดหุ้นขาลง ราคาสินทรัพย์ที่คุณลงทุนอยู่ จะมีราคาถูกลงด้วยเช่นเดียวกัน จังหวะแบบนี้…คุณอาจจะเห็นโอกาสเพิ่มทุน เพื่อเฉลี่ยต้นทุน หรือเริ่มต้นลงทุน เพราะทุกความไม่แน่นอนในโลกการลงทุน มันเป็นธรรมชาติ มีโอกาสดีๆ แฝงอยู่เสมอ

อ่านมาถึงตรงนี้ คุณคงได้คำตอบแล้วว่า ทำไมตลาดหุ้นปี 2565 ไม่เป็นขาขึ้นตามทฤษฎี January Effect ถ้าเป็นหลักการลงทุนระยะยาว 5-10 ปี หรือนานกว่านั้น เดือนมกราคมก็แค่เดือนๆ หนึ่งของปี แล้วก็จะวนกลับมาอีกครั้ง อยู่ที่ว่า คุณจะลงทุนในสินทรัพย์ดีๆ หรือไม่ต่างหาก จังหวะและเวลาไม่สำคัญเลย

Jitta Wealth มีนโยบายลงทุนระยะยาว ที่คัดเลือกสินทรัพย์คุณภาพดี ด้วยเทคโนโลยี AI อย่าง ‘หุ้นดีราคาถูก’ และ ‘หุ้นดี มีโอกาสเติบโต’ อย่าง Jitta Ranking และETF ที่หลากหลายทั่วโลก มีอนาคตไกลผ่าน Global ETF และ Thematic ลองเข้ามาศึกษาได้ที่เว็บไซต์และสอบถามเจ้าหน้าที่แนะนำการลงทุนในได้ Line ID: @JittaWealth


กองทุนส่วนบุคคล Jitta Wealth บริหารจัดการโดย บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน จิตตะ เวลธ์ จำกัด ผู้บุกเบิกสตาร์ตอัป WealthTech สัญชาติไทยรายแรก ที่ได้รับใบอนุญาตจากกระทรวงการคลัง กำกับโดยสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ ใบอนุญาตเลขที่ ลค-0105-01

ผลตอบแทนในอดีต ไม่สามารถการันตีผลตอบแทนในอนาคต การลงทุนมีความเสี่ยง ผู้ลงทุนควรทำความเข้าใจนโยบายการลงทุน เงื่อนไขผลตอบแทน และความเสี่ยงก่อนตัดสินใจลงทุน การลงทุนต่างประเทศอาจมีความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน 


อ้างอิง 

  1. นักวิเคราะห์เชื่อ ‘January Effect’ ปีนี้มาตามนัด แนะลุยหุ้นอิงเศรษฐกิจโลกฟื้น ชูแบงก์-คอมโมดิตี้โดดเด่น https://thestandard.co/historical-statistics-of-the-thai-stock-market-10-years/
  2. ทำความรู้จักกับ January Effect คืออะไร? https://knowledge.bualuang.co.th/knowledge-base/januaryeffect/
  3. Top-down Space : January Effect กำลังเกิดขึ้น? https://www.finnomena.com/mr-messenger/top-space-january-effect/
  4. January Effect คืออะไร ทำไมใครๆ ถึงถามหา https://www.blockdit.com/posts/61d82ee5b19f0f1d935fcb37
  5. January effect ดันหุ้นทะยาน-ลุ้น Q1/65 ดัชนีแตะ 1,800 จุด http://www.efinancethai.com/HotNews/hotnewsmain.aspx?release=y&name=WkNQUFJkYWxKZjRCOXBlUlRHSU14QT09
  6. What is the January Effect? https://seekingalpha.com/article/4474981-what-is-january-effect
  7. January Crisis รู้สึกไหมว่าทำไมมกราคมยาวจัง? https://www.facebook.com/1741355449523333/posts/2602665506725652/

อ่านบทความอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง

3 เซียนหุ้น แนะวิธีจัดพอร์ต ต้านทาน ‘เงินเฟ้อ’ พุ่งสูง

Thematic Investment ทางเลือกการลงทุนในธีมที่คุณชื่นชอบ

ส่องพอร์ตปังๆ ของ Jitta Wealth ปี 2564 กำไรเกือบ 70%

16 ธีมจาก Thematic ปี 2564 ใครกำไร ใครขาดทุน