Skip to content - ข้ามไปที่เนื้อหา
Blog

วิธีรับมือ ‘บาทอ่อน’ เมื่อลงทุนต่างประเทศ


Jitta Wealth

เนื้อหาสำคัญ

ค่าเงินบาท…ก็เหมือนราคาหุ้น เราคาดการณ์ไม่ได้ว่าจะ ‘อ่อน’ หรือ ‘แข็ง’

ทิศทางอัตราแลกเปลี่ยน จะสัมพันธ์กับตัวเลขเศรษฐกิจโลกและนโยบายธนาคารกลางของประเทศเศรษฐกิจหลัก นั่นก็คือ สหรัฐฯ

‘บาทอ่อน’ ที่สุดในรอบ 3 ปีครั้งนี้…เกี่ยวข้องกับสหรัฐฯ โดยตรง โดยมีปัจจัยหลักๆ เช่น

  • เศรษฐกิจสหรัฐฯ ฟื้นตัว

รัฐบาล Joe Biden ออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจสหรัฐฯ ทั้ง American Rescue Plan วงเงิน 1.9 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ และร่างกฎหมายการใช้จ่ายด้านโครงสร้างพื้นฐานวงเงิน 1.1 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ ที่เพิ่งผ่านการพิจารณาจากวุฒิสภา และเข้าสู่การพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎรสหรัฐฯ ในลำดับต่อไป

การอัดฉีดเงินเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจและการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานจะทำให้ตัวเลข GDP ของสหรัฐฯ คาดว่าจะเติบโตสูงอย่างเห็นได้ชัดในปี 2564 และปีต่อๆ ไป ส่งผลดีต่อภาคการบริโภคของประชาชน การจ้างงาน และการลงทุนใหม่ๆ จากเอกชน

  • เงินเฟ้อพุ่งขึ้น

อัตราเงินเฟ้อ หรือดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) สหรัฐฯ มีแนวโน้มพุ่งสูงขึ้นมาตลอดตั้งแต่เดือนเมษายนที่ผ่านมา สำหรับเดือนกรกฎาคม เงินเฟ้อพุ่งเป็น 5.4% ยังคงเป็นตัวเลขสูงที่สุดในรอบ 13 ปี คาดการณ์กันว่า ในเดือนต่อๆ ไป เงินเฟ้อสหรัฐฯ จะยังอยู่ในระดับสูง

ทั้งนี้มีสาเหตุจากที่ประชาชนมีกำลังจับจ่ายซื้อของมากขึ้น จากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของสหรัฐฯ ประกอบกับมีการเปิดกิจกรรมทางเศรษฐกิจและคลายล็อกดาวน์ ประชาชนจึงมี Pent-up Demand (ความต้องการซื้อที่ยังไม่ได้ซื้อ) รวมทั้งราคาพลังงานที่สูงขึ้น

  • ตัวเลขการจ้างงานดีขึ้น

สำนักงานสถิติ กระทรวงแรงงานสหรัฐฯ เปิดเผยผลสำรวจจำนวนการเปิดรับสมัครงานและอัตราการหมุนเวียนแรงงาน (Job Openings and Labor Turnover Survey – JOLTS) ในเดือนมิถุนายน พบตัวเลขการเปิดรับสมัครงาน หรือตำแหน่งงานว่างมาอยู่ที่ 10.1 ล้านตำแหน่ง เพิ่มขึ้น 590,000 ตำแหน่งจากเดือนพฤษภาคมที่ 9.5 ล้านตำแหน่ง 

เป็นผลมาจากหลายๆ บริษัทยังไม่สามารถหาคนมาทำงานได้ จากการคลายล็อกดาวน์ เปิดกิจกรรมทางเศรษฐกิจ เช่น ธุรกิจบริการ ค้าปลีก ที่พักโรงแรม และร้านอาหาร 

Goldman Sachs ประเมินว่า อัตราการว่างงานของสหรัฐฯ จะลดลงมาอยู่ที่ 3.5% ภายในสิ้นปี 2565 หลังจากทำสถิติพุ่งขึ้นสูงสุดถึง 14.8% ในช่วงเริ่มต้นการระบาด Covid-19

ปัจจัยเหล่านี้สะท้อนว่า ภาพรวมเศรษฐกิจสหรัฐฯ มีทิศทางที่ดีขึ้น มาจากการฟื้นตัวหลังโรคระบาดครั้งใหญ่ มีการพัฒนาและเร่งฉีดวัคซีนป้องกัน ส่งผลให้ประชาชนสามารถกลับมาใช้ชีวิตได้อย่างปกติ

ขณะเดียวกันรัฐบาลสหรัฐฯ มีความพยายามกระตุ้นเศรษฐกิจผ่านมาตรการทางการคลัง อย่าง American Rescue Plan และร่างกฎหมายพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานทั่วประเทศในอนาคต ซึ่งจะเกิดการลงทุนใหม่ๆ จากภาครัฐ พร้อมทั้งสร้างงานใหม่ๆ ให้ประชาชนในประเทศ

เมื่อทิศทางเศรษฐกิจสหรัฐฯ ดี ธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) จำเป็นต้องลดวงเงินมาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณ (QE – Quantitative Easing) และเตรียมขึ้นดอกเบี้ยนโยบาย 

ปัจจุบัน Fed ซื้อพันธบัตรตามมาตรการ QE อย่างน้อย 120,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐต่อเดือน แบ่งเป็นพันธบัตรรัฐบาลวงเงิน 80,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และซื้อตราสารหนี้ที่มีสินเชื่อที่อยู่อาศัยเป็นหลักประกันการจำนอง (MBS – Mortgage-backed Security) ในวงเงิน 40,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ

คาดว่า ประธาน Fed แต่ละรัฐจะสนับสนุนให้ประกาศแผนปรับลด QE เดือนกันยายน และเริ่มลด QE ในเดือนตุลาคม เพราะหากปรับลด QE ได้เร็ว จะช่วยให้ Fed มีความยืดหยุ่นในการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย

และประเมินกันว่า Fed จะส่งสัญญาณปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในปี 2566

ดังนั้นคำถามต่อมา คือ เมื่อเศรษฐกิจสหรัฐฯ ฟื้นตัว มีทิศทางการเติบโต ทำไม ‘บาทอ่อน’ ได้ ซึ่งสามารถสรุปได้ดังนี้ 

  • เศรษฐกิจไทยยังเปราะบาง

เป็นความจริงเชิงประจักษ์ เพราะไทยกำลังเจอวิกฤตระบาดครั้งใหญ่ จำนวนผู้ติดเชื้อยืนยันมีจำนวนมากกว่าที่ระบบสาธารณสุขของไทยจะรองรับได้ ขณะที่อัตราการฉีดวัคซีนป้องกัน Covid-19 โดสแรกให้กับประชาชน ยังอยู่ในระดับที่ไม่สูงมาก

การระบาดรอบนี้ รัฐบาลออกมาตรการล็อกดาวน์มาตั้งแต่ปลายเดือนเมษายนเป็นต้นมา และมีมาตรการเคอร์ฟิวช่วงเวลา 21:00 น. ถึง 04:00 น. ช่วงเดือนกรกฎาคม ทำให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจต้องหยุดชะงัก

คาดการณ์ว่า เศรษฐกิจไทยปี 2564 มีแนวโน้มติดลบต่อเนื่องเป็นปีที่ 2 มีหลายสำนักวิจัยให้กรอบติดลบหนักถึง 2% หรือถ้าเติบโต ก็ทำได้เพียง 1.4% เท่านั้น 

  • เงินทุนต่างชาติไหลออกสูง

เป็นผลกระทบต่อจากภาวะเศรษฐกิจไทยที่ยังเปราะบาง ทำให้ความเชื่อมั่นในสายตานักลงทุนต่างชาติลดลง ภาพที่เห็นได้ชัด คือ นักลงทุนต่างชาติขายหุ้นไทยสุทธิ ตั้งแต่ 1 มกราคม ถึง 11 สิงหาคม มูลค่าสูงถึง 108,660.35 ล้านบาท จากทั้ง SET และ mai

เศรษฐกิจไทยพึ่งพากับการส่งออกและการท่องเที่ยวเป็นหลัก แม้ตัวเลขส่งออกไทยในช่วง 6 เดือนแรกของปี 2564 จะเติบโต 15.53% มูลค่า 132,334.65 ล้านดอลลาร์สหรัฐ แต่การนำเข้าไทยก็เพิ่มขึ้นด้วยเช่นกัน 26.15% มูลค่า 129,895.50 ล้านดอลลาร์สหรัฐ 

แม้จะยังเกินดุลการค้าที่ 2,439.15 ล้านดอลลาร์สหรัฐ รายจ่ายเพื่อนำเข้ามีการเพิ่มขึ้นสูงกกว่ารายได้จากการส่งออก สะท้อนว่า ไทยมีปริมาณเงินไหลออกจากประเทศด้วย

สำหรับการท่องเที่ยว ตอนนี้ไทยยังไม่สามารถเปิดประเทศได้ โรคระบาด Covid-19 ทำให้ขาดรายได้จากการท่องเที่ยวในรูปสกุลเงินต่างชาติมานานเกือบ 1 ปีครึ่ง จากที่เคยมีนักท่องเที่ยวต่างชาติเกือบ 40 ล้านคนในช่วงปี 2562 นำรายได้เข้าประเทศเกือบ 2 ล้านล้านบาท แต่หายไปเกือบหมดในปี 2563-2564 

เมื่อเงินไหลออกมากกว่าเงินไหลเข้า ส่งผลให้ค่าเงินบาทมีทิศทางอ่อนค่าอย่างเห็นได้ชัด โดยช่วงเดือนมิถุนายนเป็นต้นมา กราฟพุ่งขึ้นอย่างมีนัยยะสำคัญ 

Jitta Wealth

ทั้งๆ ที่ในรอบ 1 ปีที่ผ่านมา มีทั้ง ‘บาทอ่อน’ และ ‘บาทแข็ง’ ช่วงที่เงินบาทแข็งค่าช่วงปลายปีจนถึงต้นปี มาจากความเชื่อมั่นในเศรษฐกิจไทยที่น่าจะฟื้นตัวได้ดี หลังจากที่ควบคุมการระบาดรอบที่ 2 ไว้ได้

แต่ตอนนั้นก็ไม่มีใครหยั่งรู้ได้ว่า ไทยจะเผชิญวิกฤต Covid-19 ระบาดที่หนักกว่าเดิม ดังนั้นเมื่อภาวะเศรษฐกิจกลับมาเปราะบาง ผลที่ตามมา คือ กระแสเงินทุนต่างประเทศไหลออก เพื่อไปลงทุนในสินทรัพย์หรือตลาดที่มั่นใจได้ว่า…จะให้ผลตอบแทนที่ดีกว่า

หากเงินจะไหลกลับไปที่สหรัฐฯ มากขึ้น…จึงเป็นปัจจัยที่คาดการณ์ได้ และมีเหตุผลสนับสนุนมากพอ ดังนั้นทิศทางค่าเงินคิดตามหลักการ Demand และ ​Supply ช่วงไหนความต้องการสกุลบาทไทยสูง จะเป็นช่วงเงินบาทแข็งค่า เช่น เงินทุนไหลเข้าตลาดหุ้น เงินลงทุนโดยตรงจากบริษัทต่างชาติ รายได้จากการส่งออก และรายได้จากนักท่องเที่ยวต่างชาติ 

ตอนนี้…ความต้องการสกุลดอลลาร์สหรัฐสูง จึงมีทิศทางแข็งค่า แต่ไม่มีใครคาดการณ์ได้ว่า เงินดอลลาร์สหรัฐจะอ่อนลงเมื่อไร หรือจะแข็งค่าต่อไปหรือไม่

หากคุณกำลังจะเริ่มลงทุน หุ้นและ ETF (Exchange Traded Fund) ในต่างประเทศ และไม่แน่ใจว่าควรเริ่มลงทุนในช่วงนี้หรือไม่ เพราะ ‘บาทอ่อน’ ทำให้คุณซื้อสินทรัพย์สกุลดอลลาร์สหรัฐได้น้อยลง…

Jitta Wealth มีแนวทางรับมือการลงทุนในช่วงที่ ‘บาทอ่อน’ คือ การทยอยลงทุนแบบ Dollar-cost Averaging (DCA)

  1. หากคุณต้องการเพิ่มทุน ลองแบ่งเงินเป็นก้อนๆ แล้วทยอยเพิ่มทุนในช่วงเวลาแตกต่างกัน เช่น ทุกเดือน ทุก 2 เดือน หรือทุกไตรมาส
  2. หากคุณเริ่มลงทุนครั้งแรก ให้ใส่เงินตามจำนวนขั้นต่ำก่อน แล้วทยอยเพิ่มทุนในช่วงเวลาแตกต่างกัน เช่น ทุกเดือน ทุก 2 เดือน หรือทุกไตรมาส

เมื่อทิศทางค่าเงินเป็นสิ่งที่คาดการณ์ได้ยาก หลักการ DCA จะช่วยให้คุณเฉลี่ยต้นทุนในพอร์ต จากการลงทุนในช่วงเวลาแตกต่างกัน และเพิ่มโอกาสให้พอร์ตกลับมาเป็นบวกได้เร็วขึ้น เมื่อเงินบาทกลับมาแข็งค่า หรือราคาหุ้น และ ETF กลับมาเป็นขาขึ้น

กองทุนส่วนบุคคลที่ Jitta Wealth ให้บริการ ออกแบบมาสำหรับการลงทุนระยะยาว 3-5 ปีขึ้นไป จึงไม่ได้ซื้อประกันความเสี่ยงอัตราแลกเปลี่ยน เนื่องจากต้องทำปีต่อปี เหมาะสำหรับการลงทุนระยะสั้น รวมทั้งเป็นต้นทุนค่าธรรมเนียมเพิ่มขึ้นในพอร์ตของคุณ กัดกินผลตอบแทนระยะยาว 

หากคุณยังไม่มั่นใจในทิศทางค่าเงิน ลองติดตามสถานการณ์เศรษฐกิจทั่วโลกสักระยะ เพื่อให้มั่นใจว่า คุณพร้อมลงทุนจริงๆ 

ทั้งนี้ทั้งนั้น…ทิศทางค่าเงินเป็นเพียงปัจจัยเล็กๆ ในการจัดพอร์ตลงทุน ยังมีแนวโน้มดัชนีตลาดหุ้น ราคาหุ้นบริษัท งบการเงินรายไตรมาส คุณภาพกิจการ เทรนด์ธุรกิจที่น่าสนใจ และธีมการลงทุนที่เป็นเมกะเทรนด์ ที่อาจจะเติบโตได้สูง และได้รับผลกระทบจากค่าเงินเพียงเล็กน้อย คุณควรพิจารณาด้วย 

ยกตัวอย่างเปรียบเทียบให้เห็นภาพชัดๆ ระหว่างความเคลื่อนไหวดัชนี S&P500 กับทิศทางค่าเงินบาทไทยต่อดอลลาร์สหรัฐ 

  • 1 ปีย้อนหลัง (13 สิงหาคม 2563 – 12 สิงหาคม 2564)
    • ดัชนี S&P500 +31.96%
    • ค่าเงินบาท -6.91%
  • 5 ปีย้อนหลัง (13 สิงหาคม 2559 – 12 สิงหาคม 2564)
    • ดัชนี S&P500 +105.48%
    • ค่าเงินบาท +3.41%
  • 10 ปีย้อนหลัง ​​(13 สิงหาคม 2554 – 12 สิงหาคม 2564)
    • ดัชนี S&P500 +265.97%
    • ค่าเงินบาท -10.35%

ไม่ว่าจะเป็นช่วงเวลาระยะสั้น 1 ปี ระยะยาว 5 ปีหรือ 10 ปี ทิศทางค่าเงินบาทไทยเคลื่อนไหวขึ้นๆ ลงๆ ตาม Demand และ ​Supply ของช่วงเวลานั้นๆ มีทั้งเป็นบวกและติดลบ 

ขณะที่ดัชนี S&P500 กลับมีทิศทางขาขึ้น ไม่ว่าจะเป็น 1 ปี 5 ปี หรือ 10 ปี เมื่อเปรียบเทียบกัน จะเห็นได้ว่า การเปลี่ยนแปลงของทิศทางค่าเงิน มีผลน้อยมากๆ กับผลตอบแทนที่คุณจะได้ในอนาคต

หากจะรีรอเวลา ยังไม่เริ่มลงทุน หรือจับจังหวะอัตราแลกเปลี่ยน อาจจะไม่คุ้มค่า และคุณเอง…อาจจะเสียโอกาสได้รับผลตอบแทนดีๆ เช่นเดียวกัน


อ้างอิง