Skip to content - ข้ามไปที่เนื้อหา
Blog

ถอดรหัส Jim Simons ลงทุนยังไงให้ชนะ Buffett


Jitta Wealth

หากพูดถึงนักลงทุนที่ประสบความสำเร็จที่สุดในโลก Warren Buffett อาจจะขึ้นมาในหัวของใครหลายคน ในฐานะต้นแบบของการลงทุนเน้นคุณค่า (Value Investing) ซึ่งก็เป็นต้นแบบการลงทุนที่ Jitta Wealth นำหลักการต่างๆ มาปรับใช้เช่นเดียวกัน

แต่วันนี้ Jitta Wealth จะไม่ได้มาพูดถึงปู่ Buffett แต่เราจะมาพูดถึง Jim Simons อีกหนึ่งนักลงทุนระดับตำนาน ผู้ก่อตั้ง Renaissance Technologies ที่กองทุน Medallion กองทุนเฮดจ์ฟันด์ที่ทำสถิติสร้างผลตอบแทนได้ถึง +66% ต่อปีเลยทีเดียว 

ซึ่งสูงสุดใน Wall Street ในช่วงปี 2531 – 2561 แบบที่ไม่มีกองทุนใดเคยทำได้มาก่อน สูงกว่า ดัชนี S&P 500 เอาชนะ Berkshire Hathaway ของ Warren Buffett  และ กองทุน Quantum ของพ่อมดโลกการเงินอย่าง จอร์จ โซรอส เลยทีเดียว

ความสำเร็จของกองทุนเฮดจ์ฟันด์นี้ เน้นลงทุนระยะสั้นจากความผันผวนของราคา 

เพราะหลักการของ Simons และกองทุน Medallion จัดเป็นการลงทุนแบบ Quant Fund หรือ Quantitative Fund ที่ใช้ข้อมูลมหาศาลในอดีตมาการจับจังหวะความผันผวนของราคาเพื่อทำกำไรระยะสั้น แตกต่างจากแนวทางของ Jitta Wealth ที่ใช้ศาสตร์ของ ‘Quant VI’ ในการบริหารการลงทุนแบบเน้นคุณค่า โดยมีคุณปู่ Buffett เป็น Role Model  

แต่การลงทุนแต่ละแนวทางไม่มีถูก-ผิด ความสำเร็จในการลงทุนมาจากพื้นฐานของการมีวินัยเป็นหลัก และการลงทุนในแต่ละรูปแบบก็จะมีความเสี่ยงที่แตกต่างกันไป ดังนั้น การเลือกแนวทางการลงทุนให้ตรงจริต ในระดับความเสี่ยงที่ยอมรับได้ เป็นพื้นฐานแรกที่จะนำพานักลงทุนแต่ละคนไปสู่ความสำเร็จในโลกลงทุนได้อย่างสบายใจ ไร้กังวล

 สิ่งที่เราอยากนำเสนอก็คือความเหมือนที่ Simons มีเช่นเดียวกับ Jitta Wealth นั่นก็คือความพยายามในการนำเทคโนโลยีมาตอบโจทย์โลกการลงทุน นำหลักการลงทุนมาป้อนให้ AI ใช้กำหนดแนวทางการบริหารพอร์ตลงทุนด้วยโมเดลการลงทุนที่ต่างกัน   

และความพยายามในการทดลองและพิสูจน์หลักการที่เชื่อมั่น ซึ่งล้วนต้องใช้เวลาในการพิสูจน์

 โดยเฉพาะในยุคปัจจุบัน นักลงทุนอาจจะมองว่าการที่ AI เข้ามามีบทบาทต่อการลงทุน ช่วยให้ทุกอย่างเป็นเรื่องง่ายมากขึ้น แต่ในฐานะที่เราเอง ได้พัฒนา AI เพื่อการลงทุนมาตลอด 12 ปี ทำให้เราเชื่อเลยว่าเส้นทางในการพัฒนา AI  ของ Simons และ กองทุน Medallion จนสามารถสร้างผลตอบแทนแบบทุบสถิติโลกเช่นนี้ ไม่ใช่เรื่องง่าย​ ต้องมีพื้นฐานของความพยายาม มุ่งมั่น และไม่ย่อท้อต่ออุปสรรคโดยแท้จริง 

มาถอดรหัส ทำความรู้จัก Jim Simons นักคณิตศาสตร์ชาวอเมริกัน และหลักการทุนของเขา รวมถึง Passion ของเขา​ที่ได้นำคณิตศาสตร์การเงิน (Mathematics)  มาใช้ในโลกการลงทุน ไม่ว่าจะเป็นข้อมูลชุดตัวเลข สถิติต่างๆ มาสร้างแบบจำลองทางการเงิน สร้างอัลกอริทึมให้กับเส้นทางและการลงทุนของตัวเองและกองทุน Medallion

ตั้งแต่จุดเริ่มต้น จนนำไปสู่ผลลัพธ์ Top Trader ระดับโลก และกองทุนในตำนานที่สร้างผลตอบแทนแบบหาใครเทียบได้ยาก และที่สำคัญคือ กระทั่งถึงวันนี้ก็ยังไม่มีใครไขเคล็ดลับความสำเร็จในอัลกอริทึมของเขาได้

Jim Simons ​‘คุณปู่นักคณิตศาตร์ผู้ร่ำรวยที่สุดในโลก’  

Jim Simons เกิดในรัฐ Massachusetts สหรัฐอเมริกาในปี 2481 ในครอบครัวชาวอเมริกันเชื้อสายยิว พ่อแม่ของเขาเปิดโรงงานผลิตรองเท้าในเมือง เขาจึงเติบโตและคุ้นเคยมากับธุรกิจ เมื่อถูกถามว่าจะเรียนต่อมหาวิทยาลัยที่ไหน เขาตอบโดยไม่ลังเลเลยว่า MIT (Massachusetts Institute of Technology) หนึ่งในมหาวิทยาลัยชั้นนำของสหรัฐฯ และของโลก  

ความใฝ่ฝันที่จะเข้า MIT เพราะเขาอยากเป็นนักคณิตศาสตร์ เขารู้ว่าตัวเองชอบวิชาคณิตศาตร์เอามากๆ และในปี 2498 เขาก็สามารถเข้า MIT ได้สมความตั้งใจ  

หลังจบปริญญาตรี เริ่มต้นชีวิตการทำงานด้วยการตั้งโรงงานผลิตกระเบื้องปูพื้นไวนิลและท่อ PVC โดยการร่วมหุ้นกับ ‘พ่อ’ และ ‘เพื่อน’ แต่ Passion ที่อยากเป็นนักคณิตศาสตร์ก็ยังคงอยู่อย่างเหนียวแน่น เขาจึงตัดสินใจเรียนต่อ จนจบปริญญาเอก สาขาคณิตศาสตร์ ที่ University of California ในปี 2504 

หลังจบปริญญาเอก เขาได้เข้ามาเป็นอาจารย์สอนหนังสือในสถาบันชั้นนำของโลกทั้งที่ MIT และ Harvard ด้วยอายุเพียง 23 ปี!! ถือเป็นอาจารย์ที่มีอายุน้อยที่สุด ถ้าเทียบกับคนทั่วๆ ไปอายุ 23 คือเพิ่งจบปริญญาตรี 

การหักเหชีวิตตัวเองจากนักธุรกิจมาสู่นักวิชาการ หลายคนคงมองไม่เห็นเส้นทางสู่ความร่ำรวยของ Jim Simons จะเป็นมหาเศรษฐีตอนไหน? จะรวยกี่โมง? ซึ่งตอนนั้น ตัวเขาเองก็คงยังมองไม่เห็นภาพนั้นเช่นกัน หรืออาจไม่มีภาพนั้นอยู่ในหัวเลยด้วยซ้ำ เพราะในหัวมีแต่ทฤษฎีคณิตศาสตร์

สงครามพลิกชีวิต (ไปมา) 

ปี 2507 เกิดสงครามเวียดนาม ทำให้หน่วยงานความมั่นคงแห่งชาติของสหรัฐฯ หรือ National Security Agency (NSA) ต้องการตัวนักคณิตศาตร์เก่งๆ ไปเป็นนักถอดรหัสหรือทำหน้าที่โจมตีรหัสลับ ในภารกิจที่พรินซ์ตัน ซึ่ง NSA ให้ค่าจ้างที่สูงลิบลิ่วและมีระยะเวลาทำงานไม่นานนัก ดึงดูดความสนใจของจิม ไซมอนส์เป็นอย่างมาก 

และเพราะความสามารถที่โดดเด่น ทำให้จิม ไซมอนส์ได้ร่วมงานกับ NSA เขาอยู่ในทีมวิจัยของกองการสื่อสารการวิจัยของสถาบันเพื่อการวิเคราะห์กลาโหม หรือ IDA แต่ทำงานกับ NSA ได้ไม่นานเขาก็ถูกไล่ออก เพราะความคิดเห็นเรื่องสงครามเวียดนามที่ไม่ตรงกับผู้บังคับบัญชา 

หลังโดนไล่ออกจากรั้วของชาติในวัย 29 ปี เขาก็ได้กลับเข้าสู่รั้วมหาวิทยาลัยอีกครั้ง เขากลับไปเป็นอาจารย์คณิตศาตร์เหมือนเดิม ที่ Stony Brook University และที่นี่เองเขาก็ได้มีโอกาสทำงานร่วมกับ Shiing-Shen Chern นักคณิตศาสตร์ชาวเอเชียที่มีชื่อเสียงในยุคนั้น จนได้รับการขนานนามจาก Simons ว่า “เฉินคือนักคณิตศาสตร์ที่เก่งที่สุดในศตวรรษนี้” และทั้งสองก็ได้ร่วมกันคิดค้นทฤษฎี Chern – Simons Theorem อันโด่งดัง 

เมื่อกลับมาสู่เส้นทางสายวิชาการอีกครั้ง หน้าที่การงานในฐานะนักคณิตศาสตร์ของเขาก็ก้าวหน้าขึ้นมาตามลำดับ รวมทั้งมีรางวัลมากมายเป็นเครื่องพิสูจน์ความสำเร็จ ในปี 2519  เขาได้รับรางวัล Oswald Veblen Prize หลังจากนั้นก็ได้รับตำแหน่งหัวหน้าภาควิชาคณิตศาสตร์ มหาวิทยาลัยสโตนี บรู๊ค ระหว่างปี 2511 – 2521 

จุดเปลี่ยนชีวิต​ เมื่อคิด ‘อยากรวย’

ในวัย 30 ปลายๆ  เขาเริ่มรู้สึกเบื่อหน่ายกับการเป็นนักคณิตศาสตร์ แม้เป็นอาชีพที่เขารักและมีความมุ่งมั่นมาตั้งแต่เด็ก แต่พอเข้าสู่วัยกลางคนเขาเริ่มมีความคิด ‘อยากรวย’ ผุดขึ้นมาในหัว เมื่อเห็นตัวเองที่เข้าใกล้หลัก 40 เข้าไปทุกที แต่ยังไม่รวยสักที ที่สำคัญเขาไม่ได้อยากรวยธรรมดา แต่อยากเป็นมหาเศรษฐีเหมือนคนอื่นดูบ้าง 

ความรู้สึกของคนที่กำลังเดินทางสู่วัยกลางคนคือ ‘อยากรวย’ อยากเป็นมหาเศรษฐี เขาจึงเริ่มต้นเข้าสู่วงการลงทุน เพราะมองว่าเส้นทางสายนี้คือ ‘Shortcut’ เป็นทางลัดไปสู่ความร่ำรวยได้เร็วที่สุด 

“ตอนที่ผมอายุ 30 ปลายๆ เริ่มรู้สึกเบื่อหน่ายกับคณิตศาตร์ เลยเริ่มต้นเทรดจากเงินไม่มากนัก แต่มันก็ไปได้ดีเลยทีเดียว ผมทำเงินได้มากเพราะโชคล้วนๆ เพราะตอนนั้นผมยังไม่ได้ใช้โมเดลทางคณิตศาสตร์เลย” คำพูดของ Jim Simons ที่ได้กล่าวไว้ในหนังสื่อ The Man Who Solved the Market ที่เขียนโดย Gregory Zuckerman

จากผลงานด้านคณิตศาสตร์ที่เขาได้พิสูจน์ให้เห็นมาแล้ว ทำให้เขามั่นใจความสามารถในด้านนี้ของตัวเอง ถ้าเป็นเรื่องตัวเลข เขาเชื่ออย่างที่สุดว่าเก่งไม่แพ้ใคร จากความเชื่อมั่นนี้ทำให้เขาเกิดไอเดียในการทำเงินที่ว่า “ทำไมไม่ลองถอดรหัสตัวเลขในตลาดหุ้น เพื่อสร้างเงินมหาศาลดูบ้างล่ะ?”

มาถึงตรงนี้แล้ว เชื่อว่าคุณคงอยากเห็นย่างก้าวต่อไปของ เขากับบทบาทใหม่กันแล้ว มาเจาะลึกชีวิตนักคณิตศาตร์ที่ร่ำรวยที่สุด ในโลกอัลกอริทึม ว่าเขาใช้ทฤษฎี ‘ตัวเลข’ ทำนายหุ้นอย่างแม่นยำได้อย่างไร กันต่อได้เลย 

จุดเริ่มต้นของความสำเร็จของ Jim Simons

ทฤษฎีทางคณิตศาสตร์ที่น่ามึนงงสำหรับคนทั่วไป กลับกลายเป็นพื้นฐานอันแข็งแกร่งที่นำพา Simons นักคณิตศาสตร์เงินล้าน พลิกชีวิตจากนักวิชาการไปเฮดจ์ฟันด์ที่สร้างผลตอบแทนสูงที่สุดในโลกได้  แต่ความสามารถไม่ใช่เหตุผลเดียวที่นำพาเขาไปสู่จุดนั้น เพราะเหนือ ‘ความเก่ง’ คือ ‘ความพยายาม’ ที่เป็น Key success ของเขาอย่างแท้จริง 

Simons ในวัย 44 ตัดสินใจลาออกจากอาจารย์มหาวิทยาลัย หันหลังให้อาชีพนักวิชาการมาสู่เทรดเดอร์ ตั้งกองทุนเฮดจ์ฟันด์ที่มีชื่อว่า Renaissance Technologies ภายใต้บริษัท Renaissance Technologies Holding หลักการลงทุนของกองทุนนี้คือ ‘หาความผิดปกติของราคา เพื่อโอกาสในการทำกำไร’ 

ด้วยทฤษฎีนี้ ภาพที่อยู่ในหัวของนักคณิตศาตร์ผู้ปราดเปรื่องคนนี้ก็คือ การซื้อขายหุ้นตามสูตรคำนวณเชิงคณิตศาสตร์และสถิติ ที่สามารถคาดการณ์แนวโน้มราคาในอนาคตได้ เพราะเขาเชื่อว่าการเคลื่อนไหวของราคาสินทรัพย์มีรูปแบบที่พิสูจน์ได้ด้วยสมการตัวเลขที่ซ่อนอยู่ และถ้าราคาขึ้นลงผิดไปจากปกติที่ควรจะเป็น ก็เป็นโอกาสที่จะทำกำไรได้ 

โดยหลักการของเฮดจ์ฟันด์ที่เป็นการลงทุนระยะสั้น ด้วยการจับจังหวะความผันผวนของราคาเพื่อทำกำไรในช่วงสั้นๆ และเขาก็พยายามสร้างโมเดลเพื่อหาความผันผวนของราคาตามสมมติฐานที่เขาตั้งไว้ 

ในระยะแรกที่โมเดลยังไม่เสร็จสมบูรณ์ เขาเคยทดลองใช้วิธีถือลงทุนระยะยาว แต่ก็ไม่ประสบความสำเร็จ ตรงกันข้ามเขาต้องพบกับความล้มเหลวครั้งใหญ่ เมื่อกองทุนขาดทุนไปถึง 40% จนบริษัทต้องหยุดพักกิจการชั่วคราว แต่ผลขาดทุนนี้ก็ไม่ได้สูญเปล่าเสียทีเดียว เพราะยิ่งตอกย้ำให้เขามั่นใจว่า การลงทุนระยะยาวไม่ใช่แนวทางของเขา และกลายเป็นแรงผลักให้เขาใช้ความพยายามมากยิ่งขึ้น ในการพัฒนาโมเดลลงทุนตามแนวทางของตัวเอง  

ไม่ยอมแพ้.. จนกว่าชนะ

ถึงกองทุนเฮดจ์ฟันด์ของเขาจะขาดทุนย่อยยับในระยะแรก จนต้องปิดกิจการลงชั่วคราว แต่เขาก็ไม่ยอมแพ้ และทุ่มเทกับการพัฒนาโมเดลมากขึ้น เขาได้ว่าจ้างนักคณิตศาตร์จำนวนมากมาช่วยกันคิด ซึ่งส่วนหนึ่งก็เป็นเพื่อนเก่าสมัยทำงานที่หน่วย IDA ของ NSA นั่นเอง ทั้งยังได้ใช้แบบจำลองที่เคยทำตอนอยู่กองทัพมาใช้ในการคำนวณสูตรคณิตศาสตร์ของเขาด้วย 

นอกจากนักคณิตศาสตร์แล้ว เขาได้ระดมเหล่าอเวนเจอร์สมาช่วยกันคิดโมเดลอีกด้วย ทั้งนักวิทยาศาสตร์ นักฟิสิกส์ ไปจนถึงนักบินอวกาศ!

ในการพัฒนาโมเดล Simons ได้ใช้ข้อมูลจำนวนมหาศาลในการออกแบบอัลกอริทึมรูปแบบต่างๆ แต่ละวันกองทุน Renaissance Technologies จะเก็บข้อมูลที่มีความสัมพันธ์กับราคาสินทรัพย์ เป็นจำนวนหลายพันกิกะไบต์ เข้ามารวมกับฐานข้อมูลเดิมตั้งแต่ปี 2243 อีกหลายล้านกิกะไบต์ เรียกได้ว่านำข้อมูลทุกอย่างเท่าที่จะหาได้มาเข้าสูตรคำนวณ

ไม่ว่าจะเป็นข้อมูลเศรษฐกิจมหภาค ข้อมูลอุตสาหกรรม รายงานประจำปีของบริษัท ความคิดเห็นทารการเมือง ไปจนถึงสภาพดินฟ้าอากาศ ที่เขาหยิบเข้ามาใส่ในสูตร 

แล้วใช้อัลกอริทึม คอมพิวเตอร์นำข้อมูลเหล่านั้นไปแทนค่าในสูตรสมการหลายตัวแปร คัดกรองสินทรัพย์ที่ราคาเคลื่อนไหวต่างจากรูปแบบปกติ เพื่อค้นหารูปแบบ (Pattern) บางอย่างที่ซ่อนอยู่ ​และโดยปกติแล้วมนุษย์จะไม่สามารถรับรู้ถึงความผิดปกตินี้ได้ ซึ่งความผิดปกตินี้ก็คือความผันผวนของราคาในระยะสั้นมากๆ และเป็นโอกาสของการทำกำไรนั่นเอง 

เขาทุ่มเทแบบสุดตัว ในการค้นหาโมเดลที่ลงตัว ถ้ายังไม่ชนะ ก็จะไม่ยอมแพ้ และในที่สุดก็ Bingo!! เมื่อได้โมเดลในแบบที่สมบูรณ์ตามความต้องการ จากนั้นก็ปล่อยให้ระบบ AI ทำหน้าที่ซื้อขายอัตโนมัติ เพื่อป้องกันความผิดพลาดจากอารมณ์ ความโลภ หรือความหวาดกลัวของมนุษย์ เมื่อราคาผันผวน 

เคยมีนักข่าวถามถึงมุมมองต่อตลาดหุ้น และนี่คือคำตอบแบบเรียลๆ ที่เชื่อมั่นในอัลกอริทึมแบบเต็มร้อย “ผมไม่มีความเห็น เพราะคอมพิวเตอร์คือสิ่งที่ให้ความเห็น และเราแค่ทำตามที่มันบอกเท่านั้น”

จากความสำเร็จนี้สะท้อนให้เห็นว่า Jim Simons เชื่อมั่นในผู้เชี่ยวชาญมากกว่าสัญชาตญาณ ในทางกลับกันการพูดคุยกับบริษัท หรือนั่งวิเคราะห์งบการเงิน ดูจะไม่ใช่แนวทางของเขา และนี่ก็ถือเป็นจุดแข็งของกองทุนเฮดจ์ฟันด์ ภายใต้การบริหารของ Jim Simons

จาก Passion สู่เฮดจ์ฟันด์ระดับโลก

ด้วยทฤษฎีของเขา ที่เข้าไปเก็งกำไรในสินทรัพย์หลากหลายประเภท และปิดสถานะทันทีเมื่อราคากลับสู่ภาวะปกติ โดยจะถือครองสินทรัพย์เฉลี่ยแค่เพียง 2 วันเท่านั้น ผลปรากฏว่าโมเดลลงทุนนี้ประสบความสำเร็จอย่างงดงาม ทำให้ Renaissance Technologies เติบโตขึ้นมาเป็นกองทุนเฮดจ์ฟันด์ระดับโลก 

ในปี 2561 กองทุน Renaissance Technologies สามารถทำรายได้และมีขนาดสินทรัพย์สูงเป็นประวัติการณ์ ยืนหนึ่งเทียบเท่ากับเฮดจ์ฟันด์ยักษ์ใหญ่อย่าง Bridgewater แม้ในช่วงเดือนมีนาคม 2563 ที่โลกเผชิญกับเหตุการณ์ระบาดของ COVID-19 จนตลาดหุ้นถูกเทขายอย่างหนัก ทำให้ดัชนี S&P 500 ติดลบไปราว -7% แต่กองทุนนี้กลับมีผลตอบแทนเพิ่มขึ้นถึง +9.9% 

หากคุณยึดมั่นในโมเดลและกระบวนการทางวิทยาศาสตร์ ที่ผ่านการวิเคราะห์มาอย่างดีแล้ว หลังจากนั้นคุณจะสามารถโดดเด่นกว่าตลาดได้” นี่คือคำตอบของเขา เมื่อมีคนถามถึงการป้องกันความเสี่ยงนอกเหนือจากโมเดลที่ตั้งไว้

ไม่เพียงแต่โมเดลที่ชาญฉลาดเท่านั้น อีกเหตุผลหนึ่งที่ทำให้กองทุนของเขาเติบโตมาได้ไกลขนาดนี้ คือ การปรับปรุงข้อมูลและสูตรคำนวณอยู่ตลอดเวลา เพื่อให้ทันต่อสถานการณ์โลกที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว

Jim Simons ประกาศรีไทร์จากบริษัทในปี 2553 หลังจากนั้นในปี 2565 นิตยสาร Forbes จัดอันดับให้เขาเป็นบุคคลร่ำรวยอันดับที่ 43 ของโลก โดยมีทรัพย์สินประมาณ 2.81 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐฯ ขณะที่ Renaissance Technologies มีสินทรัพย์ภายใต้บริหารสินราว 1.30 แสนล้านเหรียญสหรัฐฯ  และเป็นที่น่าเสียดายที่สุดเมื่อวันที่ 10 พฤษภาคม​ 2567 Jim Simon ก็ได้จากไปอย่างสงบปิดตำนานนักลงทุนที่ประสบความสำเร็จของโลกไปอีกคน

ก่อนจากกันไปเราอยากยกตัวอย่างคำกล่าวของจิม ไซมอนส์บางท่อนบางตอนที่สะท้อนหลักคิดเหมือนหลักการของ Jitta Wealth  เช่น 

The best decisions are often made with data and evidence, not just gut feelings”

เพราะ อัลกอริทึมต่างๆ ต้องทำงานบนฐานข้อมูลและหลักฐานเชิงประจักษ์​จึงจะตัดสินใจได้อย่างถูกต้อง ไม่ใช่ลางสังหรณ์ของใครคนใดคนหนึ่ง และแม้จะเชื่อในระบบมากแค่ไหน เราก็ต้องพยายามตรวจสอบและปรับปรุง แก้ไขและพัฒนาอัลกอริทึมอยู่เสมอ

แม้ทุกวันนี้จะยังไม่มีใครแกะอัลกอริทึมของ Jim Simons ได้ และถือเป็นความลับที่ถูกปิดตาย แต่ก็เชื่อว่าสิ่งที่เขาสร้างไว้ จะยังคงอยู่ตลอดไป  ดังเช่นคำกล่าวที่ จิม ไซมอนส์ว่าไว้ “​​The things we are doing will not go away” เพราะหลักการที่ถูกต้องจะนำมาสู่ผลลัพธ์ที่ถูกต้องตลอดกาล


เมื่อเร็วๆ นี้คุณตราวุทธิ์ เหลืองสมบูรณ์ ได้มีโอกาสไปแบ่งปันประสบการณ์การใช้ AI เพื่อการลงทุนตลอด 12 ปีที่ผ่านมา บนเวที PRACHACHAT  BUSINESS  FORUM : The Power of AI # เกมใหม่ โลกเปลี่ยน ร่วมกับผู้มีบทบาทในการพัฒนา และขับเคลื่อนประเทศอีกหลายท่าน ที่จัดขึ้นโดยหนังสือพิมพ์ประชาชาติธุรกิจ โดยท่านที่สนใจสามารถเข้าไปรับฟังเพิ่มเติมได้ที่นี่