Skip to content - ข้ามไปที่เนื้อหา
Blog

‘ตลาดหุ้นเวียดนาม’ ปรับฐาน ถึงเวลาลงทุนแล้วหรือยัง?


Jitta Ranking Thematic

เนื้อหาสำคัญ

ปี 2564 ถือเป็นปีทองของ ‘ตลาดหุ้นเวียดนาม’ เพราะเป็นปีที่ตลาดหุ้นเวียดนามพุ่งทะยานต่อเนื่องจนทำจุดสูงสุดใหม่หรือ New High ได้ถึง 4 ครั้งในรอบ 1 ปี เรียกได้ว่าโดยเฉลี่ยแล้วดัชนี VNI ทำจุดสูงสุดใหม่ได้ทุกไตรมาสเลยทีเดียว

แต่ ‘อะไรก็เกิดขึ้นได้’ เมื่อวันที่ดัชนี VNI ตกลงแรงก็มาถึง นับตั้งแต่วันที่ 4 เมษายน 2565 ที่ดัชนี VNI ทะยานไปแตะจุดสูงสุดที่ 1,524.70 จุด หลังจากนั้นดัชนีก็ดิ่งลงมาอย่างรวดเร็วมากกว่า 350 จุดในเวลาเพียง 1 เดือนเศษ โดย ณ วันที่ 16 พฤษภาคม 2565 ดัชนี VNI อยู่ที่ระดับ 1,171.95 จุด หรือตกลงมามากกว่า 23% ในระยะเวลาเพียง 43 วัน

หากคุณลงทุนในตลาดหุ้นเวียดนามอยู่อาจรู้สึกตกใจกับมูลค่าพอร์ตที่หายไปอยู่ไม่น้อย หรืออาจกังวลว่าเกิดอะไรขึ้นกับตลาดหุ้นเวียดนามที่อยู่ดีๆ ก็ร่วงกราวรูดลงมา

หรือหากคุณยังไม่เคยลงทุนในตลาดหุ้นเวียดนามเลย อาจรู้สึกลังเลว่าดัชนี VNI ตกแรงแบบนี้จะมีโอกาสฟื้นตัวกลับไปที่ระดับ 1,400-1,500 จุดได้อีกหรือเปล่า แล้วตอนนี้เป็นจังหวะที่ดีหรือยังที่จะเข้าลงทุนในตลาดหุ้นเวียดนามหรือไม่

ทีมงาน Jitta Wealth มาสรุปทุกมิติของตลาดหุ้นเวียดนามให้คุณพิจารณาในบทความนี้

‘ตลาดหุ้นเวียดนาม’ ปรับฐานรอบนี้ เกิดจากอะไร?

การจะประเมินว่า ‘การปรับฐาน’ ของตลาดหุ้นเวียดนามภายในเวลาแค่ 2 เดือนนี้น่ากลัวแค่ไหน คุณต้องทำความเข้าใจก่อนว่าตลาดหุ้นเวียดนามปรับฐานรอบนี้เกิดจากสาเหตุใด

ต้นเหตุที่ทำให้หุ้นเวียดนามดิ่งลงมาอย่างรวดเร็วภายในเวลา 1 เดือนเศษก็คือ ‘คดีทุจริตในตลาดหุ้น’ ที่เริ่มปรากฎในข่าวตั้งแต่ต้นเดือนเมษายน 2565 หลังหน่วยงานกำกับการดูแลตลาดหุ้นของเวียดนามอย่าง State Securities Commission of Viet Nam (SSCV) เข้าควบคุมตัวผู้บริหารระดับสูงของบริษัท FLC Group ในข้อหาปั่นหุ้น ฉ้อโกง และไม่รายงานการซื้อขายหุ้นล่วงหน้าตามกฎของ SSCV ซึ่งถือเป็นจุดเริ่มต้นของการปราบปรามทุจริตครั้งใหญ่รอบนี้ 

ตามมาด้วยการควบคุมตัวผู้บริหารบริษัทอสังหาริมทรัพย์รายใหญ่อย่าง Tan Hoang Minh Group ในข้อหากระจายหุ้นกู้ที่นำออกจำหน่ายแบบผิดกฎหมาย ต่อด้วยการควบคุมตัวผู้บริหารระดับสูงอีกหลายคนของบริษัทขนาดใหญ่และรัฐวิสาหกิจในเวียดนามหลายแห่ง ซึ่งแน่นอนว่าทำให้นักลงทุนไม่มั่นใจในเสถียรภาพของตลาดหุ้นเวียดนาม จึงเทขายหุ้นออกมาเพื่อถือเงินสดรอดูสถานการณ์ก่อน

นอกจากนี้ ตลาดหุ้นเวียดนามมีเงินลงทุนจากนักลงทุนรายย่อยคิดเป็นสัดส่วนสูงถึง 99% ของมูลค่าการซื้อขายทั้งหมด และมีมูลค่าการซื้อขายโดยใช้เงินกู้ยืมจากบริษัทหลักทรัพย์หรือ Margin Loan (เงินที่ลูกค้ากู้ยืมเพื่อซื้อขายหลักทรัพย์) ค่อนข้างสูง ขณะที่สัดส่วนเงินลงทุนของนักลงทุนสถาบันจากต่างประเทศมีจำกัดจากเรื่อง Foreign Ownership Limit 

เมื่อข่าวคดีทุจริตในตลาดหุ้นถูกเปิดเผยออกมาจนราคาหุ้นหลายตัวในตลาดดื่งลง นักลงทุนรายย่อยที่ซื้อขายด้วย Margin Loan จะโดนเรียกเงินประกันในการซื้อขายเพิ่มเติม (Margin Call) ทำให้นักลงทุนบางส่วนตัดสินใจขายหุ้นเพื่อนำเงินสดมาวางเงินประกันเพิ่ม กลายเป็นอีกปัจจัยที่มาซ้ำเติมให้ตลาดหุ้นตกแรงยิ่งขึ้นไปอีก

และยังมีปัจจัยลบอื่นๆ เข้ามากระทบอีก ไม่ว่าจะเป็นการเพิ่มความเข้มงวดในการปล่อยสินเชื่อด้านอสังหาริมทรัพย์ หรือกฏระเบียบที่เข้มงวดมากขึ้นในตลาดตราสารหนี้ ส่งผลกระทบกับหุ้นในกลุ่มอสังหาริมทรัพย์และธนาคารที่ถูกเทขายออกมาด้วย ซึ่งหุ้นทั้ง 2 กลุ่มนี้มีน้ำหนักในการคำนวณดัชนี VNI สูงเกินกว่าครึ่งหนึ่ง

ขณะที่ปัจจัยภายนอกประเทศก็ส่งผลกระทบต่อดัชนี VNI ด้วย ไม่ว่าจะเป็นอัตราเงินเฟ้อที่สูงขึ้นทั่วโลก และการปรับอัตราดอกเบี้ยของ Fed ซึ่งทำให้เกิดภาวะเงินทุนไหลออก

จากปัจจัยทั้งหมดที่ส่งผลทำให้ตลาดหุ้นเวียดนามดิ่งลง จะเห็นว่าทั้งหมดล้วนเป็นเพียงปัจจัยชั่วคราวที่ไม่ได้กระทบกับพื้นฐานทางเศรษฐกิจของเวียดนาม และหากย้อนไปตั้งแต่ที่ Covid-19 เริ่มระบาดในช่วงต้นปี 2563 ดัชนี VNI ก็เป็นขาขึ้นมาตลอดและทำ New High ตลอดปี 2564 ที่ผ่านมาถึง 4 ครั้ง

นักวิเคราะห์หลายคนมองว่าการปราบปรามการทุจริตในตลาดหุ้นจนส่งผลให้ตลาดหุ้นเวียดนามปรับฐานในรอบนี้ส่งผลดีกับพัฒนาการของตลาดหุ้นเวียดนามในระยะยาว เพราะทำให้ตลาดหุ้นเวียดนามมีเสถียรภาพและความโปร่งใสมากขึ้น ซึ่งจะช่วยยกระดับตลาดหุ้นเวียดนามตามการจัดอันดับของ MSCI จากการเป็นตลาดหุ้นชายขอบ (Frontier Market) ไปสู่การเป็นตลาดหุ้นเกิดใหม่ (Emerging Market) ซึ่งหากมองเช่นนี้ การปราบปรามการทุจริตให้ตลาดหุ้นครั้งนี้ถือเป็นเรื่องดีกว่าที่หลายๆ คนคิด

ตลาดหุ้นเวียดนาม

‘ตลาดหุ้นเวียดนาม’ กับปัจจัยบวกด้านเศรษฐกิจ

  • เศรษฐกิจเวียดนามกำลังไปได้สวย ทำให้ได้รับความสนใจนักลงทุนทั้งในเวียดนามและต่างประเทศ โดยในไตรมาสแรกของปี 2565 เวียดนามมียอดเปิดบัญชีการซื้อขายหลักทรัพย์ใหม่สูงถึง 676,600 บัญชี ซึ่งสูงพอๆ กับยอดเปิดบัญชีใหม่ของทั้งปี 2564 และทำให้จำนวนบัญชีซื้อขายหลักทรัพย์แตะ 4.98 ล้านบัญชี เพิ่มขึ้นกว่า 15% จากสิ้นปี 2564 ขณะที่ GDP ของเวียดนามเองก็เติบโตสูงถึง +6 ถึง +7% ต่อปีได้อย่างสม่ำเสมอในช่วง 20 ปีที่ผ่านมา เรียกได้ว่าเป็นหนึ่งในประเทศที่มีอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจสูงที่สุดในเอเชีย และรัฐบาลก็มีแผนกระตุ้นเศรษฐกิจเพื่อเร่งให้ GDP ขยายตัวเพิ่มขึ้นอีก 1% ในปีนี้ด้วยงบประมาณกว่า 15,300 ล้านดอลลาร์สหรัฐ คิดเป็นมูลค่ากว่า 4% ของ GDP เวียดนาม 
  • เตรียมถูกยกระดับเป็นตลาดหุ้นเกิดใหม่โดย MSCI จากตลาดหุ้นชายขอบ (Frontier Market) เป็นตลาดหุ้นเกิดใหม่ (Emerging Market) ภายในปี 2565-2567 ซึ่งจะทำให้มีเงินลงทุนจากต่างชาติไหลเข้าตลาดหุ้นเวียดนามเพิ่มเติมอีก
  • บริษัทต่างชาติแห่ย้ายฐานการผลิตมาสู่เวียดนาม ไม่ว่าจะเป็น LG Electoronics Panasonic และ Samsung โดยในปี 2564 มูลค่าเงินลงทุนจากต่างประเทศหรือ Foreign Direct Investment (FDI) ของเวียดนามสูงเป็นอันดับที่ 1 ของภูมิภาคอาเซียนที่ 5.1% ของ GDP เพราะรัฐบาลมีการลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน ประชากรส่วนใหญ่ยังอยู่ในวัยแรงงานทำให้ค่าแรงไม่สูงมาก และตั้งแต่ปี 2550 เป็นต้นมา เงินลงทุนจากต่างประเทศของเวียดนามคิดเป็นสัดส่วน 6.4% ของ GDP ซึ่งสูงกว่าไทยถึง 3 เท่าในช่วงเวลาเดียวกัน 
  • ประชากรส่วนใหญ่อยู่ในวัยหนุ่มสาว ข้อมูลจากเว็ปไซต์ Population Pyramid ระบุว่าเวียดนามมีประชากรในวัยหนุ่มสาวเป็นจำนวนมาก โดยจำนวนประชากรที่มีอายุต่ำกว่า 60 ปีมีมากถึง 90% ของประชากรทั้งหมด ขณะที่จำนวนประชากรที่มีอายุต่ำกว่า 20 ปีก็มีถึง 37% ซึ่งจะกลายเป็นขุมกำลังทางเศรษฐกิจของเวียดนามในอนาคต

แม้ว่าดัชนี VNI ของเวียดนามจะตกลงมาเยอะ แต่ถ้าพิจารณาเหตุผลที่ทำให้ตลาดหุ้นผันผวนก็จะเห็นว่าเป็นเพียงเหตุการณ์ระยะสั้นที่ไม่ได้กระทบกับพื้นฐานทางเศรษฐกิจของเวียดนามและปัจจัยภายนอกประเทศเป็นหลัก ขณะที่เศรษฐกิจของเวียดนามยังมีศักยภาพการเติบโตสูง แบบนี้ก็คงตอบได้ว่า การลงทุนระยะยาวในตลาดหุ้นเวียดนามยังเป็นตัวเลือกที่น่าสนใจอยู่

ควรลงทุนหุ้นเวียดนามตอนไหนดี? 

ไม่มีคำว่าสายเกินไปสำหรับการลงทุนในตลาดหุ้นเวียดนามที่เศรษฐกิจกำลังเติบโตสูงระดับนี้ เพราะไม่ว่าตลาดหุ้นจะเป็นขาขึ้นหรือขาลงก็ล้วนเป็นโอกาสในการลงทุนทั้งนั้น 

แต่ก่อนที่จะลงทุน คุณควรตอบตัวเองให้ได้อย่างชัดเจนก่อนว่าอะไรทำให้คุณอยากลงทุนในตลาดหุ้นเวียดนาม คุณเป็นนักลงทุนระยะสั้นหรือระยะยาวและสามารถรับความเสี่ยงได้แค่ไหน และการลงทุนในตลาดหุ้นเวียดนามจะช่วยให้คุณเขยิบเข้าใกล้เป้าหมายในการลงทุนที่ตั้งเอาไว้ได้หรือไม่

หากคุณมองว่าเวียดนามเป็นตลาดที่น่าลงทุน ตั้งใจจะลงทุนในระยะยาวอย่างน้อย 3-5 ปีขึ้นไปก็เหมาะจะลงทุนในตลาดหุ้นเวียดนามที่เศรษฐกิจเริ่มฟื้นกลับมาและกำลังจะพุ่งทะยานอีกครั้ง หรือหากคุณต้องการสะสมความมั่งคั่งด้วยการทยอยลงทุนแบบ DCA ก็สามารถทำได้ เพื่อให้คุณได้ลงทุนอย่างเป็นระบบและได้เฉลี่ยต้นทุนสินทรัพย์ทั้งช่วงตลาดหุ้นขาขึ้นและขาลง

อยากลงทุนหุ้นเวียดนาม Jitta Wealth มีแผนการลงทุนอะไรบ้าง?

Jitta Wealth มีแผนการลงทุนในตลาดหุ้นเวียดนาม 2 แผนด้วยกัน คือ 

Jitta Ranking เวียดนาม ลงทุนใน ‘หุ้นดีราคาถูก’ ในตลาดหุ้น HOSE และ HNX อย่างน้อย 5-20 ตัว เงินลงทุนขั้นต่ำ 1 ล้านบาท เพิ่มทุนครั้งละ 100,000 บาท 

  • จุดเด่น ระบบบริหารจัดการพอร์ตอัตโนมัติ โดยจะคัดเลือกหุ้นที่ไม่มี Foreign Ownership Limits (FOL) และคัดกรองหุ้นที่มีสภาพคล่องที่ต่ำมากๆ ออกให้คุณ พร้อมกระจายเงินลงทุนทั้งตลาดหลักทรัพย์โฮจิมิน (HOSE) และตลาดหลักทรัพย์ฮานอย (HNX) โดยที่คุณไม่ต้องรู้ภาษาเวียดนาม ไม่ต้องเสียเวลาวิเคราะห์และเลือกหุ้นเพื่อลงทุนด้วยตัวเองเลย
  • ระบบการบริหารจัดการพอร์ตอัตโนมัติ นโยบาย Jitta Ranking จะรีวิวและปรับพอร์ตให้คุณทุก 3 เดือนนับจากวันที่เงินลงทุนแต่ละก้อนถูกนำไปลงทุนครั้งแรก ซึ่งเมื่อมีการปรับพอร์ตแสดงว่าคุณจะได้ ‘หุ้นดี ราคาถูก’ มาอยู่ในพอร์ตของคุณอยู่เสมอ คุณจึงไม่ต้องกังวลแม้ในยามที่ตลาดหุ้นผันผวน 

Thematic ETF ตลาดหุ้นเวียดนาม ลงทุนในหุ้นของบริษัทจดทะเบียนที่ได้ประโยชน์จากการเติบโตทางเศรษฐกิจของเวียดนามผ่านกองทุน VanEck Vector Vietnam ETF ให้พอร์ตเติบโตไปพร้อมกับการลงทุนตามธีมเมกะเทรนด์ที่คุณเชื่อมั่น เงินลงทุนเริ่มต้น 100,000 บาท เพิ่มทุนครั้งละ 10,000 บาท

  • จุดเด่น แผนการลงทุน Thematic DIY ของ Jitta Wealth ให้คุณเลือกธีมเมกะเทรนด์เพื่อลงทุนได้ 1-5 ธีมเพื่อให้คุณสามารถกระจายความเสี่ยงให้กับพอร์ตของคุณได้ พร้อมทั้งปรับพอร์ตให้โดยอัตโนมัติ หากธีมตลาดหุ้นเวียดนามเป็นหนึ่งในตัวเลือกที่คุณสนใจก็สามารถให้ธีมตลาดหุ้นเวียดนามให้เป็น 1 ใน 5 ธีมที่คุณเลือกลงทุนได้ โดยกองทุน VanEck Vectors Vietnam ETF จะลงทุนอ้างอิงตามดัชนี MVIS Vietnam Index ที่เน้นลงทุนบริษัทจดทะเบียนของเวียดนามและประเทศอื่นๆ เช่น เกาหลีใต้ ไต้หวัน และญี่ปุ่นที่มีสินทรัพย์หรือสร้างรายได้อย่างน้อย 50% จากเวียดนาม
  • ระบบบริหารจัดการพอร์ตอัตโนมัติ ระบบบริหารจัดการพอร์ตของ Jitta Wealth จะปรับพอร์ต Thematic DIY ให้โดยอัตโนมัติเมื่อมูลค่าการลงทุนของแต่ละธีมขยับจากสัดส่วนการลงทุนที่ควรจะเป็นเกิน 5% หรือจะปรับสัดส่วนการลงทุนทุก 1 ปีหากสัดส่วนเปลี่ยนไม่เกิน 5% ในระหว่างปี

อ้างอิง 

  1. ทำไม “หุ้นเวียดนาม” ร่วงหนัก – อนาคตยังน่าสนใจอยู่มั้ย? https://www.moneybuffalo.in.th/stock/why-vietnam-stocks-fell-heavily-is-the-future-still-interesting
  2. ตลาดหุ้นเวียดนาม 2022 ครึ่งปีแรกกับครึ่งปีหลังอาจต่างกันราวฟ้ากับดิน กูรูแนะจับตาปัญหาเงินเฟ้อ-ฟองสบู่ https://thestandard.co/vietnam-stock-market-2022/
  3. หุ้นเวียดนามถึงจุดเปลี่ยน เสี่ยงหรือโอกาส  https://www.bangkokbiznews.com/business/1004643
  4. 3 ปัจจัยหนุนหุ้นเวียดนาม สู่ The Rising Star of Asia https://www.posttoday.com/finance-stock/columnist/675945
  5. ตลาดหุ้นเวียดนาม ทำไม? น่าลงทุน https://www.kasikornbank.com/th/kwealth/Pages/mf-vietnam-trend.aspx

อ่านบทความเพิ่มเติม

ลงทุน Jitta Ranking ตอนที่ 4 เวียดนาม…ดาวรุ่งพุ่งแรง

5 ทางเลือก เมื่อ LTF ครบกำหนด ลงทุนอะไรต่อดี