รีวิว Jitta Wealth นักลงทุนจำเป็น ในวันที่ต้องเป็นเสาหลักของครอบครัว
คุณบุษบา คุณแม่ลูก 2 ที่ต้องผันตัวเป็นนักลงทุนจำเป็น
ชีวิตแม่บ้านอาจจะฟังดูเรียบง่าย แต่เมื่อมาถึงวันที่สามีผู้เป็นทุกอย่างในชีวิตจากไป ในฐานะแม่ที่ต้องดูแลลูกอีก 2 คน ก็ต้องลุกขึ้นมาจัดการทุกอย่างในชีวิต แน่นอนว่าไม่มีอะไรสำคัญไปกว่าการสร้างความมั่นคงให้ครอบครัวเดินต่อไปได้ด้วยลำแข้งตัวเอง
คุณบุษบา คุณแม่ลูก 2 ที่ไม่มีพื้นฐานความรู้ด้านการเงินการลงทุนมาก่อนเลย เธอเป็นอดีตคุณครูอนุบาลที่แต่งงานกับสามีชาวญี่ปุ่น หลังแต่งงานเธอมีหน้าที่เพียงดูแลลูกและสามี ส่วนภาระอื่นๆ ในชีวิต สามีเป็นคนจัดการให้ทั้งหมด
กระทั่งเมื่อปลายปี 2561 ก็ถึงจุดเปลี่ยนของชีวิต เมื่อสามีจากไป เธอต้องลุกขึ้นมาจัดการทุกอย่างในบ้านด้วยตัวเอง และนั่นเป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้เธอสนใจเรื่องการลงทุน เรียนรู้และบริหารการเงินในครอบครัวด้วยตัวเธอเอง
จากคนไม่มีความรู้ด้านการเงินมาก่อนเลย วันนี้ พอร์ตของเธอค่อยๆ เติบโต โดยเฉพาะพอร์ตลูกรักอย่าง Global ETF ที่สร้างผลตอบแทนให้ได้ถึง 31.61% ในช่วงเวลา 3 ปีเศษ นับตั้งแต่ที่เธอเริ่มลงทุนเมื่อวันที่ 29 กันยายน 2563 จนถึงวันที่ 13 ธันวาคม 2566 และถือว่าสูงกว่า MorningStar Global 80/20 ที่ทำได้เพียง +20.50%
เพราะมีลูกยังเล็กในเวลานั้น เธอตัดสินใจไม่กลับไปสู่เส้นทางของพนักงานประจำ และเลือกที่จะมีเวลาให้กับลูกๆ ทั้ง 2 คน จึงมองหาอาชีพที่สามารถอยู่บ้านดูแลลูกได้
ต้นปี 2562 เธอเริ่มสนใจการลงทุน และใช้เวลาในช่วงที่ลูกๆ ไปโรงเรียนด้วยการหาความรู้ด้านการเงินผ่านช่องทางออนไลน์ ไม่ว่าจะเป็น Youtube หรือ Facebook เปิดฟังคลิปการลงทุนทั้งวัน ฟังกูรูด้านการเงินที่เธอบอกว่า มีทั้งตัวจริงตัวปลอม
โชคดีที่มีสวัสดิการจากการเกษียณของสามีที่เสียชีวิตไปที่ส่งต่อให้ภรรยาไปจนกว่าเธอจะเสียชีวิตและสำหรับบุตรจนกว่าจะอายุครบ 18 ปี ทำให้เธอมีรายได้หลักมาใช้หมุนเวียนในชีวิตประจำวัน แล้วก็แบ่งไปลงทุนรวมถึงเก็บไว้ในส่วนของลูกๆ ทั้ง 2 คน ด้วย
“หลังแต่งงานก็ไปอยู่ที่ญี่ปุ่น แต่พอสามีเกษียณก็พากันกลับมาอยู่เมืองไทย เราก็ไม่ได้ศึกษาหรือสนใจเรื่องลงทุน เพราะเขาเป็นคนจัดการทั้งหมด พอเขาจากไปเราก็ต้องดูแลเอง เริ่มจากศึกษาใน Youtube หรือ Facebook ตอนแรกก็จะแยกแยะไม่ออกใครตัวจริงตัวปลอม
แต่พออยู่บ้านใช้เวลาทั้งวันในการศึกษาพื้นฐานทุกอย่างเกี่ยวกับเรื่องการเงินการลงทุน ที่สำคัญก็คือการจัดระบบรายรับ รายจ่าย หนี้สิน ทรัพย์สิน อะไรบ้างที่เราต้องมี อะไรที่เผื่อไว้อนาคตลูก อย่างประกันชีวิต เงินออม เงินสำรอง หลังจากนั้นเงินที่เหลือก็แบ่งลงทุน คือเป็นการบริหารเงินเพื่อจะเป็นมรดกเก็บไว้ให้ลูก”
ในเวลานั้นฟีดเรื่องการลงทุนที่ส่งตรงมาให้เธอเรียนรู้ส่วนมากเป็นการลงทุนในประเทศ ไม่ว่าจะเป็นธนาคาร หรือบลจ. ซึ่งธนาคารน่าเชื่อถือที่สุดในมุมมองของเธอที่มั่นใจว่าธนาคารคงไม่โกง เมื่อเทียบกับเอกชนอีกหลายเจ้าที่เธอไม่รู้จัก ก็กลัวว่าจะมาชวนไปลงทุน เธอจึงเลือกศึกษาด้วยตัวเอง
กูรูด้านการเงินที่เธอเลือกที่จะฟังบ่อยสุดคือ ‘โค้ชหนุ่ม’ ที่มักให้หลักคิดเรื่องการเงินไปพร้อมๆ กับหลักคิดในการสอนลูกๆ เธอชื่นชอบปรัชญาการใช้ชีวิตในการจัดการปัญหาหนี้ของโค้ชหนุ่มที่ไม่เพียงสอนให้คนรู้จักแก้ปัญหาด้วยตัวเอง แต่ยังสอนเรื่องการเงินโดยที่ไม่ได้ชวนลงทุนเพียงอย่างเดียว
หลังจากเรียนรู้ได้สักพัก เธอเริ่มลงทุนในหุ้นไทยรายตัวทีละเล็กละน้อย เพราะยังไม่กล้ามากนัก และเมื่อได้ศึกษามากขึ้นเธอคิดว่าควรจะกระจายพอร์ตลงทุนไปต่างประเทศ จึงเริ่มมองหาผลิตภัณฑ์การลงทุนผ่านธนาคาร แต่ก็พบปัญหาว่าขั้นตอนการสมัครใช้งานที่ค่อนข้างยุ่งยาก ระหว่างนั้นก็ฟังคลิปไปเรื่อยๆ จนได้เจอคลิปของคุณเผ่า ตราวุทธิ์ เหลืองสมบูรณ์ ซีอีโอ Jitta Wealth แล้วรู้สึกประทับใจ
“เราลองฟังที่คุณเผ่าพูดแล้วเรารู้สึกถึงความหวังดี ที่อยากให้เราลงทุนเพื่ออนาคตมากกว่า เอาเงินมาให้บริษัทลงทุนให้ รู้สึกประทับใจว่าทำไมบริษัทนี้ถึงอยากให้ทุกคนเข้าใจถึงการลงทุนที่ไม่ใช่แค่ในประเทศ เพื่อกระจายความเสี่ยงระยะยาว ก็เลยชอบ และเปิดพอร์ต ซึ่งตัวแอปเองก็ใช้งานง่าย เราสามารถดูและอัปเดตพอร์ตได้ตลอดเวลา ก็เลยรู้สึกว่า น่าจะปลอดภัย”
และก็ไม่ผิดหวังเม็ดเงินที่คุณบุษบาเริ่มลงทุนมาตั้งแต่ปี 2562 มาถึงตอนนี้ผลตอบแทนจากการลงทุนใน Global ETF ที่เริ่มลงทุนกับ Jitta Wealth ในปี 2563 คือดีที่สุด ทุกครั้งที่เธอเปิดแอปฯเข้าดูมาพอร์ตในแต่ละวัน เธอบอกว่าพอร์ตไม่เคยติดลบเลยตั้งแต่ซื้อมา เธอจึงยกให้เป็นพอร์ตลูกรักเลย
ในฐานะมือใหม่ ที่ลงทุนด้วยตัวเองตลอด 3 ปีกว่า คุณบุษบา ได้บทเรียนจากการลงทุนอยู่บ้าง โดยเฉพาะจากความไม่เชี่ยวชาญด้านภาษี ที่ทำให้เธอไม่แน่ใจว่าเงินได้ที่เข้ามาจากสวัสดิการหลังเกษียณของสามีจะถูกจัดเป็นเงินได้ประเภทที่ต้องเสียภาษีหรือไม่ เธอต้องตัดสินใจซื้อ LTF และ RMF เพื่อใช้สิทธิลดหย่อนภาษีในเวลานั้น ซึ่งส่วนใหญ่เป็นการลงทุนในประเทศ ผ่านมาถึงเวลานี้
พอร์ตติดลบค่อนข้างมากตามภาวะตลาดหุ้นไทยที่เธอมองว่าไม่เติบโตไปไหน ซึ่งเธอก็ไม่สามารถปรับพอร์ตได้ดั่งที่ตั้งใจ เพราะติดเงื่อนไขกองทุนที่ไม่สามารถขายออกได้ในเวลานี้
และจากการฝึกฝนและเรียนรู้ผ่านบทเรียนออนไลน์รวมถึงการเรียนรู้ด้วยตัวเอง ทำให้คุณบุษบาเข้าใจดีว่า ‘การลงทุนทุกอย่างมีความเสี่ยง’ ความสำคัญคือเงินที่นำไปลงทุนนั้นต้องชัดเจนว่าเสี่ยงได้หรือไม่ หากเราต้องสูญเสียเงินก้อนนั้นไป ดังนั้นแผนสำรองที่เธอมองไว้ก็คือ ‘การกระจายความเสี่ยง’
“เราต้องเรียนรู้ความผิดพลาด เพราะเราควบคุมไม่ได้มันอยู่เหนือกว่าการควบคุมของเรา แต่ก็ไม่เครียด เพราะเงินที่เราลงไปเราก็ต้องยอมแล้วว่าอาจจะเสีย หรือเป็นเงินเย็นที่ไม่ได้คิดจะเอามาใช้ในเร็วๆ นี้ ก็จะไม่ได้กังวลอะไรกับมันเยอะ ถ้าเราแบ่งไปเก็บไว้หลายๆ ที่ และเรียงลำดับความสำคัญของเงินที่จะใช้ก่อนหลัง เราก็ไม่ต้องห่วงกังวล สามารถปล่อยมันให้เติบโตได้อย่างสบายใจไปจนถึงวันที่ลูกๆ เติบโต”
หลังจากจัดระบบการเงินในบ้านตามที่ได้ศึกษามาในช่วง 3 ปีนี้ เธอแบ่งเงินไปซื้อประกันและเงินสะสมของลูกๆ จัดสัดส่วนการลงทุนในประเทศและต่างประเทศได้บ้างแล้ว ในเวลานี้เธอมั่นใจว่าระบบการเงินในบ้านไม่ปัญหาแล้ว ที่เหลือก็แค่เก็บเงิน แล้วเมื่อลูกๆ โตก็สอนลูกๆ ให้ลงทุนและส่งต่อให้ลูกๆ ได้อย่างสบายใจ