Skip to content - ข้ามไปที่เนื้อหา
Blog

Jitta Wealth Journal – เลือกตั้งแล้ว ตลาดหุ้นไทยไปทางไหนต่อ?


Jitta Wealth Journal

เนื้อหาสำคัญ

เงินเฟ้อสหรัฐฯ ต่ำสุดในรอบ 2 ปี

Jitta Wealth Journal ปีที่ 3 ฉบับที่ 129 ประจำวันที่ 16 พฤษภาคม 2566

ตลาดหุ้นไทยจะตอบสนองอย่างไรหลังเลือกตั้ง อัตราเงินเฟ้อสหรัฐฯ ลดแล้วต่ำกว่า 5% ครั้งแรกในรอบ 2 ปี Xi Jinping ลั่นพัฒนาภาคเทคโนโลยีกระตุ้นเศรษฐกิจจีนให้ไกลกว่านี้ ทำไม Buffet ขาย BYD บางส่วนออกจากพอร์ต Berkshire ตัวเลข CPI ญี่ปุ่นส่งสัญญาณเติบโต Standard Chartered คาดเวียดนามอาจโตลดลง 

รับข้อมูลข่าวสารและเกร็ดความรู้การลงทุนดีๆ จากเราได้ที่ Line ID: @jittawealth


ความเคลื่อนไหวตลาดหุ้นรายสัปดาห์

ดัชนีตลาดหุ้นสหรัฐฯ

S&P 500 -0.29% DJIA -1.11% NASDAQ +0.40%

ตลาดหุ้นสหรัฐฯ ผันผวนหลังมีแนวโน้มว่า Fed จะปรับขึ้นดอกเบี้ยต่อในเดือนมิถุนายน แต่ดัชนี Nasdaq ได้รับแรงหนุนจากหุ้นเทคโนโลยีตัวใหญ่ Alphabet (Google) Netflix และ Amazon ปรับตัวขึ้น +11.81% +5.07% และ +4.94% ตามลำดับ แม้ว่าความกังวลจะยังกดดันตลาดแต่ภาคอุตสาหกรรมเทคโนโลยีสหรัฐฯ ตอนนี้ก็ถือว่าน่าดึงดูดใจมาก

ดัชนีตลาดหุ้นเอเชีย

CSI 300 -1.97% TOPIX +1.01% VNI +2.34% SET +1.83%

ตลาดหุ้นจีนได้รับแรงกดดันจากตัวเลขเงินเฟ้อที่อ่อนแอในเดือนเมษายน นักลงทุนคาดว่าเศรษฐกิจจีนจะชะลอตัวลง ตลาดหุ้นญี่ปุ่นได้รับแรงหนุนจากหุ้นเทคฯ จากการประกาศงบ ตลาดเวียดนามกลับมาสดใสจากหุ้นอสังหาฯ และต่างชาติที่เข้าซื้อในช่วงหุ้นถูก ตลาดหุ้นไทยกลับมาบวกจากหุ้นธนาคารและต้อนรับการเลือกตั้งในรอบนี้ 

ข้อมูลจาก S&P Capital IQ ณ 14 พฤษภาคม 2566


Jitta Wealth Journal

Black Swan ครั้งสำคัญ ของคุณเผ่า ตราวุทธิ์ CEO Jitta Wealth 

ย้อนฟังเรื่องราวล้มลุกคลุกคลานของ คุณเผ่า ตราวุทธิ์ ที่ไม่เคยเล่าที่ไหนมาก่อน 

บทเรียนในอดีตด้วยความมั่นใจอยากพลิกพอร์ต 

แต่กลายเป็นล้างพอร์ตไปได้อย่างไร อะไรคือจุดเปลี่ยนสำคัญในวันนั้นจนถึงวันนี้

รับชม Black Swan ของ CEO Jitta Wealth


ตลาดหุ้นไทย

ตลาดหุ้นไทยจะตอบสนองยังไงหลังเลือกตั้ง?!

คุณเคยสงสัยไหมว่า…ทำไมนักลงทุนมักจับตามองการเลือกตั้งอย่างใกล้ชิด มีงานวิชาการมากมายได้ชี้ถึงความสัมพันธ์ระหว่างการเมืองกับดัชนีตลาดหุ้นไทยว่า มีความสัมพันธ์ในทิศทางที่ตรงข้ามกัน

หมายความว่าเมื่อประเทศไทยเกิดความไม่แน่นอนทางเศรษฐกิจและการเมือง หรือทุกครั้งที่เกิดการเลือกตั้งหรือการเปลี่ยนแปลงรัฐบาลใหม่ จะเป็นปัจจัยกดดันให้ดัชนีตลาดหุ้นไทยปรับตัวลดลงเสมอ

หากเปรียบเทียบก่อนและหลังเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร 5 ครั้งหลังสุด (2539 2544 2550 2554 และ 2562) หลังจากการเลือกตั้งจบลง ดัชนีตลาดหุ้นไทยโดยเฉลี่ยแทบจะติดลบทุกช่วงปีเลือกตั้ง แต่จะค่อยๆ ปรับตัวขึ้นและให้ผลตอบแทนดีขึ้นนับจากวันเลือกตั้งผ่านไปแล้ว 2 ปีขึ้นไป

ในส่วนนี้จะมีความแตกต่างจากทางฝั่งสหรัฐฯ อยู่พอสมควร เพราะหลังจากการเลือกตั้งสหรัฐฯ 5 ครั้งล่าสุด (2547 2551 2555 2559 และ 2563) หลังเลือกตั้งจบลง ดัชนี S&P 500 จะเคลื่อนที่ไปในทิศทางบวก และมีแนวโน้มเป็นขาขึ้นในระยะยาว  

สะท้อนให้เห็นว่า นักลงทุนในตลาดหุ้นไทยต้องการเวลาพอสมควรเพื่อสร้างความเชื่อใจในรัฐบาลใหม่ที่จะเข้ามาบริหารประเทศ ซึ่งเหตุการณ์นี้จะถูกจัดว่าเป็น ความเสี่ยงที่เป็นระบบ (Systematic Risk) ที่จะหลีกเลี่ยงไม่ได้หากลงทุนในตลาดหุ้นไทย

แต่นี่เป็นแค่แนวโน้มแบบคร่าวๆ สำหรับการคาดการณ์ทิศทางตลาดหุ้นโดยใช้ตัวเลขจากในอดีตเท่านั้น อย่าลืมว่าผลตอบแทนในอดีตไม่สามารถการันตีอนาคตได้ ถึงแม้ว่าแนวโน้มจะเป็นไปในทิศทางนี้ก็ตาม แต่ด้วยกลยุทธ์ลงทุนระยะยาวจะนำระยะเวลามาช่วยลดความผันผวนได้ในที่สุด 


เศรษฐกิจสหรัฐฯ

อัตราเงินเฟ้อสหรัฐฯ ต่ำกว่า 5% ครั้งแรกในรอบ 2 ปี

เมื่อเดือนเมษายนที่ผ่านมา ในสหรัฐฯ อัตราเงินเฟ้อได้ลดลงถึงจุดต่ำสุดในรอบสองปีที่ 4.9% แต่ก็ยังมากกว่าสองเท่าของอัตราเงินเฟ้อ 2% ที่ Fed พยายามลดไปให้ถึงจุดนั้น (เป็นอัตราเงินเฟ้อที่ไม่รวมไปถึงราคาอาหารและพลังงานที่ผันผวนบ่อยครั้ง)

การปรับตัวลดลงของอัตราเงินเฟ้อเกิดขึ้นจากการที่ Fed ขึ้นอัตราดอกเบี้ย พยายามที่จะควบคุมอัตราเงินเฟ้อให้ได้ เพื่อชะลอกิจกรรมทางเศรษฐกิจ และด้วยเหตุนี้จึงช่วยลดแรงกดดันในการผลักดันราคาสินค้าต่างๆ ให้สูงขึ้นแต่ก็สร้างความกดดันให้ตลาดหุ้นด้วยเช่นกัน 

สัญญาณดีเริ่มปรากฎเมื่อประธาน Fed อย่าง Jerome Powell ออกมาบอกเป็นนัยว่า ‘อาจพร้อมที่จะหยุดการปรับขึ้นดอกเบี้ยชั่วคราว’ แต่ก็มีนักเศรษฐศาสตร์หลายสำนักออกมาบอกว่าความคืบหน้าของการชะลอเงินเฟ้อมีโอกาสจะช้าลงกว่าเดิม

หากหยุดปรับขึ้นดอกเบี้ยแล้ว กิจกรรมทางเศรษฐกิจสหรัฐฯ เป็นไปได้ว่าจะเริ่มมีทิศทางที่ดีขึ้น แต่หากต้องการกระตุ้นให้เศรษฐกิจกลับมาคึกคักอีกครั้ง คงต้องรอดูแนวโน้มปลายปี 2566 ว่า Fed มีโปรแกรมที่จะปรับลดดอกเบี้ยบ้างหรือไม่ 


Jitta Wealth Journal

Talk of the Town 

เรื่องเด่นประเด็นฮิตของชาว Jitta Wealth Official

รีวิวพอร์ต Global ETF ฉบับมนุษย์เงินเดือนสาย DCA

CEO ตอบคำถามนักลงทุน Global ETF แตกต่างอย่างไร

โค้งสุดท้าย กิจกรรมลุ้นบัตรชมงาน Road To Fire

มาร่วมพูดคุยกับเรา  

(ตอบคำถามให้ครบ 3 ข้อ เพื่อเข้าร่วมกลุ่มนะ )


เศรษฐกิจจีน

ประธานาธิบดี Xi Jinping บอกจีนควรโฟกัสภาคเทคโนโลยี

ประธานาธิบดี Xi Jinping ประกาศจีนต้องโฟกัสอุตสาหกรรมการผลิตและเทคโนโลยีมากขึ้น หลังการประชุมกลยุทธ์การพัฒนาประเทศจีน ซึ่ง Xi มองว่าเป็น ‘Real Economy’ ส่วนเศรษฐกิจที่จับต้องได้และก่อให้เกิดประโยชน์แก่ประชากรในประเทศ

ในส่วนของจำนวนแรงงานของจีนที่ค่อยๆ ลดลงเนื่องจากอัตราการเกิดใหม่ต่ำ จีนอาจต้องกลับมาให้ความสำคัญกับการสนับสนุนให้ประชากรมีบุตรเพิ่มขึ้นเพื่อรองรับการเติบโตของอุตสาหกรรมและเศรษฐกิจ

เทคโนโลยีจีนเป็นอุตสาหกรรมที่ยังได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลจีนเพื่อเพิ่มการขยายตัว และด้วยการมุ่งเน้นการพัฒนาในส่วนนี้จะทำให้เทคโนโลยีจีนสามารถแข่งขันในตลาดโลกได้มากกว่าที่เป็นอยู่ขึ้นไปอีก 

ต้องรอดูการวางกลยุทธ์ครั้งนี้กันต่อไปว่า จีนจะพัฒนาและดำเนินการไปในทิศทางไหนต่อไป ซึ่งหากจีนวางกลยุทธ์ที่มีประสิทธิภาพและทำได้จริง จะช่วยให้เศรษฐกิจจีนเติบโตขึ้นอย่างมีนัยสำคัญอย่างแน่นอน รวมไปถึงหุ้นจีนในอุตสาหกรรมเทคโนโลยีด้วย 


พลังงานสะอาดจีน

Warren Buffett ขายหุ้น BYD ทำกำไร

Berkshire Hathaway บริษัทของ Warren Buffett เพิ่งขายหุ้นบางส่วนในบริษัทรถยนต์ไฟฟ้า ของจีน BYD ที่ถือมาตั้งแต่ปี 2551 และเริ่มขายทำกำไรออกไปตั้งแต่ช่วงปี 2565 เป็นต้นมา

เมื่อส่องไปถึงผลประกอบการของ BYD ทำผลงานได้อย่างยอดเยี่ยม แซงหน้า Tesla ในจีนจนขึ้นแท่นเป็นผู้ผลิตรถยนต์ไฟฟ้ารายใหญ่ที่สุดของจีนเป็นที่เรียบร้อย รองประธาน Berkshire อย่าง Charlie Munger ก็ได้พูดชม BYD อยู่บ่อยครั้ง แต่ด้วยมูลค่าหุ้นที่พุ่งขึ้นสูงทำให้ Berkshire ตัดสินใจขายหุ้นบางส่วนเพื่อปรับสัดส่วนพอร์ต

แม้ว่า Berkshire จะขายหุ้น BYD ออกไปบ้างแต่ราคาหุ้นก็ไม่ได้รับผลกระทบมากนัก และยังปรับตัวขึ้นด้วยในช่วงที่ผ่านมา จะเห็นได้ว่าปู่ Buffett และ Munger ให้ความสำคัญกับธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับพลังงานสะอาดอยู่ โดยทั้งคู่ได้พูดอย่างชัดเจนว่าต้องสร้าง ‘สมดุล’ ในธุรกิจนี้ให้ได้

BYD ตอนนี้เป็นรถยนต์ไฟฟ้าที่มาแรงมากและเริ่มกินส่วนแบ่งตลาดรถยนต์ไฟฟ้าโลกแล้ว แนวโน้มการเติบโตของ BYD จะช่วยส่งเสริมให้ธีมพลังงานสะอาดจีน และพลังงานสะอาดเติบโตอย่างแข็งแกร่ง นั่นทำให้ธีมพลังงานสะอาดจีนเป็นอีกเมกะเทรนด์ที่น่าสนใจมาก


Buffett

4 ประเด็นสำคัญ ประชุมผู้ถือหุ้น Berkshire 2566

สิ้นสุดการรอคอย…มาอ่านทรรศนะของปรมาจารย์แห่งโลกการลงทุน

Warren Buffett และ Charlie Munger 

ว่ามีวิสัยทัศน์และวิธีรับมือกับการลงทุนในช่วงเวลานี้อย่างไร

เราสรุปประเด็นสำคัญที่คุณควรรู้มาไว้ที่นี่แล้ว

อ่านต่อ


เศรษฐกิจญี่ปุ่น

ผลสำรวจชี้ CPI หลักของญี่ปุ่นมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอีกครั้ง

อัตราเงินเฟ้อผู้บริโภคหลักของญี่ปุ่นมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอีกครั้งในเดือนเมษายน ผลสำรวจความคิดเห็นของนักเศรษฐศาสตร์ 19 คนระบุสาเหตุว่า ราคาขายปลีกที่พุ่งสูงขึ้นอย่างคึกคัก ทำให้การอุดหนุนพลังงานของรัฐบาลยังไม่เพียงพอ

ในขณะที่เงินอุดหนุนจากรัฐบาลสำหรับค่าก๊าซและค่าไฟฟ้าช่วยควบคุมค่าใช้จ่ายด้านพลังงานของครัวเรือน แต่บริษัทจำนวนมากกลับขึ้นราคาสินค้าอุปโภคบริโภคและบริการในช่วงเดือนเมษายน ทำให้ CPI หลัก เพิ่มขึ้นอีกครั้ง

จากการสำรวจ ดัชนีราคาผู้บริโภคหลัก (CPI) ของญี่ปุ่น ซึ่งไม่รวมอาหารสดแต่รวมสินค้าพลังงาน ในเดือนเมษายนมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น 3.4% จากปีก่อนหน้า เป็นอัตราการเพิ่มขึ้นจาก 3.1% ในเดือนมีนาคมและกุมภาพันธ์ ซึ่งเป็นการเติบโตที่เร็วที่สุดนับตั้งแต่ทำสถิติสูงสุดในรอบ 41 ปีที่ 4.2% ในเดือนมกราคม

ตลาดคาดการณ์ว่า ธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) อาจจะกำลังเตรียมการเปลี่ยนแปลงนโยบาย แม้ว่า Kazuo Ueda ผู้ว่าการ BOJ ได้ให้คำมั่นว่าจะคงมาตรการผ่อนคลาย 

คงจะต้องจับตามองกันต่อไป ว่าเมื่อรัฐบาลประกาศตัวเลขที่แท้จริงออกมา เศรษฐกิจจะเป็นไปในทิศทางใด และ BOJ จะมีมาตรการรับมือกับสถานการณ์นี้อย่างไร


เศรษฐกิจเวียดนาม

ตัวเลขการเติบโตเวียดนามอาจไม่ถึงเป้า  

บริษัท Standard Chartered ลดความคาดหวังการเติบโต GDP ของเวียดนาม ในปี 2566 ลงเหลือ 6.5% จาก 7.2% จากตัวชี้วัดต่างๆ ของเวียดนามที่ชะลอตัวลงตลอด 4 เดือนที่ผ่านมา ภาคการส่งออกของเวียดนามลดลง 11.8%yoy และเงินเฟ้อไม่รวมอาหารและราคาน้ำมันลดลงสู่ระดับ 2.8% ซึ่งนับเป็นเดือนที่ 3 ที่มีการปรับตัวลง

การลงทุนจากต่างประเทศโดยตรง (Foreign Direct Investments) ลดลง 17.9%yoy และภาคการนำเข้าลดลงถึง 15.4%yoy ซึ่งโดยปกติแล้วเวียดนามนำเข้าสินค้าจากต่างประเทศเป็นจำนวนมาก การลดลงของตัวเลขนี้อาจทำให้นักลงทุนมองว่าเป็นสัญญาณของการชะลอตัวทางเศรษฐกิจ แม้ว่าการบริโภคในประเทศจะอยู่ในเกณฑ์ที่ดีก็ตาม 

International Monetary Fund (IMF) ก็ได้ปรับลดการเติบโตของ GDP (GDP growth)  ของเวียดนามลงจาก 6.2% เหลือ 5.8% World Bank เองปรับลดจาก 6.7% เป็น 6.3% 

เวียดนามอาจได้รับผลกระทบจากสภาวะตลาดภายนอกเช่น วิกฤติธนาคารและนโยบายการเงินที่เข้มงวดขึ้นของประเทศในภูมิภาค นักลงทุนเองอาจจะต้องคอยดูในส่วนของการเติบโตในไตรมาสที่เหลือของเวียดนามต่อไป 


ถือเป็นสัปดาห์ที่ประเทศไทยร้อนแรงมากที่สุดในประวัติศาสตร์

ตลาดหุ้นไทยเองก็ต้องเผชิญกับความไม่แน่นอน รวมไปถึงการตั้งคำถามถึงอนาคตที่ก็ไม่มีใครตอบได้ของการเมืองในช่วงนี้ด้วยเหมือนกัน ซึ่งเป็นปกติธรรมดาของแทบจะทุกครั้งในช่วงของการเลือกตั้ง 

ตลาดหุ้นมีขึ้นมีลงเป็นเรื่องปกติ ความผันผวนเองก็เป็นสิ่งที่อยู่คู่กับตลาดหุ้นเสมอ และเป็นสิ่งที่ไม่มีใครควบคุมได้ ซึ่งอาจเกิดจากสาเหตุที่สมเหตุสมผล หรืออาจเกิดจากอารมณ์ส่วนใหญ่ของนักลงทุนในตลาด จนอาจจะดูไร้เหตุผลก็ได้ทั้งนั้น 

แต่ถ้าคุณวางแผนการลงทุนของคุณอย่างมีสติ เข้มแข็งไม่หวั่นไหวไปกับอารมณ์ของตลาด จะเป็นจุดแข็งที่ทำให้คุณผ่านทุกสนามการลงทุน และประสบความสำเร็จได้

แล้วพบกันใหม่สัปดาห์หน้า


อ่าน Jitta Wealth Journal ย้อนหลัง

Jitta Wealth Journal – Fed ขึ้นดอกเบี้ยอีก รอบสุดท้ายหรือยัง?!

Jitta Wealth Journal – ญี่ปุ่นสุดปัง ค่าเงินเยนอ่อนแต่หุ้นพุ่ง!