Jitta Wealth Journal – Fed ขึ้นดอกเบี้ยอีก รอบสุดท้ายหรือยัง?!
ญี่ปุ่น-เกาหลี ประชุมเศรษฐกิจในรอบ 7 ปี
Jitta Wealth Journal ปีที่ 3 ฉบับที่ 128 ประจำวันที่ 9 พฤษภาคม 2566
Fed ขึ้นดอกเบี้ย 0.25% สูงสุดในรอบ 16 ปี หวังฉุดเงินเฟ้อ JPMorgan เข้าซื้อธนาคาร First Republic Bank เพื่อรักษาเสถียรภาพ ญี่ปุ่น-เกาหลีใต้ ประชุมเศรษฐกิจครั้งประวัติศาสตร์ ภาคบริการญี่ปุ่นโตไม่หยุดเติบโตติดต่อกันเป็นเดือนที่ 7 GDP เวียดนามมีโอกาสต่ำกว่าคาด ภาคบริการจีนมีแนวโน้มชะลอตัว
รับข้อมูลข่าวสารและเกร็ดความรู้การลงทุนดีๆ จากเราได้ที่ Line ID: @jittawealth
ความเคลื่อนไหวตลาดหุ้นรายสัปดาห์
ดัชนีตลาดหุ้นสหรัฐฯ
S&P 500 -0.80% DJIA -1.25% NASDAQ +0.07%
Fed ขึ้นดอกเบี้ยสู่ระดับ 5 – 5.25% ซึ่งเป็นระดับสูงสุดนับตั้งแต่เดือนสิงหาคม 2550 หุ้นธนาคารหลายแห่งฟื้นตัวดีส่งผลให้ภาพรวมบรรยากาศตลาดหุ้นสหรัฐฯ ดีขึ้น นักลงทุนจับตาดูว่า Fed จะมีแนวโน้มหยุดขึ้นอัตราดอกเบี้ยแล้วหรือยัง
ดัชนีตลาดหุ้นเอเชีย
CSI 300 -0.30% TOPIX +0.88% VNI -0.84% SET +0.27%
ตลาดหุ้นจีนเคลื่อนที่อยู่ในกรอบ หุ้นญี่ปุ่นปิดบวกต้อนรับวันหยุดยาว หุ้นเวียดนามผันผวนยังไม่ได้ข้อสรุปในการดำเนินการแก้ไขของรัฐบาล ตลาดหุ้นไทยเริ่มกลับตัวเล็กน้อยแต่ยังเคลื่อนที่อยู่ในกรอบ นักลงทุนไทยจับตามองการเลือกตั้งในสัปดาห์นี้
ข้อมูลจาก S&P Capital IQ ณ 7 พฤษภาคม 2566
Jitta Wealth แจกฟรี Wallpaper ดัชนี Nasdaq
Wallpaper ที่จะพาคุณย้อนกลับไปสำรวจวิกฤตต่างๆ ที่เกิดขึ้นในตลาดหุ้น Nasdaq
ตั้งแต่ยุค Y2K จนถึงปัจจุบัน
ผสมผสานกับเรื่องเล่าการลงทุนผ่านเส้น 3 เส้น
ที่จะเป็นเครื่องเตือนใจให้กับคุณ 3 เส้นนั้นจะมีความหมายอย่างไรบ้าง
เศรษฐกิจสหรัฐฯ
Fed ขึ้นดอกเบี้ย 0.25% สูงสุดในรอบ 16 ปี
ธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) ได้ประกาศขึ้นดอกเบี้ย 0.25% สู่ระดับ 5 – 5.25% เพื่อฉุดเงินเฟ้อให้ลดลงสู่ระดับเป้าหมาย และลดความร้อนแรงของเศรษฐกิจสหรัฐฯ ส่งผลให้ตลาดหุ้นผันผวนเล็กน้อยแต่ก็เป็นไปตามที่ตลาดคาดการณ์
การปรับขึ้นดอกเบี้ยจะส่งผลให้เกิดการชะลอตัวในการลงทุนและการใช้จ่าย ทุกธุรกิจจะได้รับผลกระทบ และการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยก็ถูกมองได้อีกทางด้วยว่า เป็นสัญญาณของความเชื่อมั่นในความแข็งแกร่งและความยืดหยุ่นของเศรษฐกิจ ซึ่งบ่งชี้ว่าจะสามารถทนต่ออัตราดอกเบี้ยที่สูงขึ้นได้
คุณคงเห็นข่าวที่เกี่ยวข้องกับการปรับขึ้นดอกเบี้ยของ Fed มาตั้งแต่ช่วงปี 2565 และหากสังเกตดีๆ จะเห็นภาพรวมในระยะสั้น แต่ภาพรวมระยะยาวอาจยังไม่แน่ชัดซึ่งสรุปได้ดังนี้
- ภาพรวมระยะสั้น ตลาดจะตอบสนองเชิงลบต่อการปรับขึ้นดอกเบี้ย และนักลงทุนอาจระมัดระวังในการลงทุนมากยิ่งขึ้น และส่งผลให้หุ้นมีราคาที่ถูกลง แต่จากการปรับขึ้นดอกเบี้ยในรอบ 2 – 3 ครั้งที่ผ่านมาดูเหมือนว่านักลงทุนเริ่มชินและตอบสนองเชิงลบน้อยลงแล้ว
- ภาพรวมระยะยาว เศรษฐกิจจะแข็งแรงมากขึ้น และมีอัตราเงินเฟ้อที่ควบคุมได้ซึ่งจะส่งผลบวกต่อตลาดหุ้นสหรัฐฯ ในระยะยาวตลาดหุ้นจะได้ความเชื่อมั่นกลับมาอีกครั้ง และมีเสถียรภาพซึ่งเป็นเป้าหมายที่ Fed พยายามทำให้เศรษฐกิจสหรัฐฯ เป็นแบบนั้นอยู่เสมอ
การลงทุนในทุกนโยบายของ Jitta Wealth จะเป็นการลงทุนระยะยาว เราถึงอยากนำเสนอภาพรวมระยะยาวให้คุณได้เห็นด้วย สำหรับแนวโน้มการปรับขึ้นดอกเบี้ยตอนนี้ยังไม่ชัดเจนว่าจะไปต่อหรือพอแค่นี้ แต่ก็เริ่มใกล้จุดเป้าหมายที่ Fed จะหยุดการปรับขึ้นดอกเบี้ยแล้ว และนั่นจะทำให้ตลาดหุ้นสหรัฐฯ กลับมาเติบโตอย่างมีเสถียรภาพได้อีกครั้งนึงอย่างแน่นอน
JPMorgan เข้าซื้อธนาคาร First Republic Bank
JPMorgan บริษัทการเงินระดับโลกเข้าซื้อธนาคาร First Republic Bank เพื่อป้องกันวิกฤตภาคธนาคารในสหรัฐฯ การเข้าซื้อในครั้งนี้เกิดขึ้นหลังจาก First Republic Bank ประสบปัญหาเงินฝากเนื่องจากความกังวลเกี่ยวกับเสถียรภาพทางการเงิน
การเข้าซื้อของ JPMorgan มีเป้าหมายเพื่อรักษาความเชื่อมั่นในระบบธนาคารและหลีกเลี่ยงวิกฤตที่อาจเกิดขึ้น การเข้าซื้อในครั้งนี้จะช่วยให้ผู้ฝากเงินมีความเชื่อมั่นว่า เงินฝากจะยังคงปลอดภัยด้วยเครดิตชื่อเสียงของ JPMorgan
การแทรกแซงเพื่อหลีกเลี่ยงวิกฤตการธนาคารเน้นย้ำถึงความสำคัญของการควบคุมและการกำกับดูแลที่มีประสิทธิภาพในภาคการเงิน การตอบสนองอย่างรวดเร็วของหน่วยงานกำกับดูแลและ JPMorgan แสดงให้เห็นถึงความมุ่งมั่นในการรักษาเสถียรภาพและป้องกันความเสี่ยงนั่นเอง
วิกฤตธนาคารหลายแห่งในตอนนี้เริ่มฟื้นฟูกลับมาได้แล้ว จะเห็นได้ว่าที่หลายคนกังวลว่า วิกฤตในครั้งนี้อาจจะรุนแรงเหมือนวิกฤตสินเชื่อซับไพรม์ในปี 2551 นั้นค่อนข้างจะเกินจริงไปหน่อย เพราะสหรัฐฯ ได้รับบทเรียนไปแล้วและจะทำทุกวิถีทางเพื่อไม่ให้เหตุการณ์ดังกล่าวเกิดขึ้นซ้ำอย่างแน่นอน
Talk of the Town
เรื่องเด่นประเด็นฮิตของชาว Jitta Wealth Official
รีวิวพอร์ต Global ETF ลงทุนระยะยาวอย่างเข้าใจ
ทำไม ‘ยิ่งลงทุนนาน โอกาสขาดทุนยิ่งน้อยลง’ ?
ส่องกำลังใจดีๆ จากเพื่อนนักลงทุน
(ตอบคำถามให้ครบ 3 ข้อ เพื่อเข้าร่วมกลุ่มนะ )
เศรษฐกิจญี่ปุ่น
ญี่ปุ่น-เกาหลีใต้ ร่วมประชุมทางเศรษฐกิจครั้งประวัติศาสตร์
รัฐมนตรีคลังของญี่ปุ่นและเกาหลีใต้ประชุมทวิภาคีครั้งแรกในรอบ 7 ปี มีเป้าหมายเพื่อปรับปรุงความสัมพันธ์ที่ตึงเครียดและเพิ่มความร่วมมือทางเศรษฐกิจ โดยทั้งสองประเทศมีข้อตกลงที่น่าสนใจดังนี้
- ส่งเสริมความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการเงินร่วมกัน
- เสริมสร้างการแลกเปลี่ยนสกุลเงินทวิภาคี (เยนและวอน)
- จัดหาเงินทุนร่วมกันในโครงการโครงสร้างพื้นฐานในประเทศที่สาม
- ปรับปรุงความร่วมมือด้านการเงินสีเขียวและดิจิทัล
การประชุมรัฐมนตรีคลังเป็นขั้นตอนเชิงบวกในการแก้ไขข้อพิพาททางประวัติศาสตร์ที่มีมาอย่างยาวนานและความตึงเครียดทางการค้าระหว่างสองประเทศ
การพัฒนาความสัมพันธ์ทางการทูตและเศรษฐกิจจะช่วยให้ญี่ปุ่นและเกาหลีใต้สามารถทำงานร่วมกันได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้นเกี่ยวกับความท้าทายในระดับภูมิภาคและระดับโลก
ภาพรวมในระยะยาว ความร่วมมือนี้จะเป็นประโยชน์ต่อเศรษฐกิจของญี่ปุ่นอย่างมาก ญี่ปุ่นจะเข้าถึงตลาดเกาหลีใต้ได้ดีขึ้น ใช้ประโยชน์จากความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีของเกาหลีใต้ส่งผลดีต่อเศรษฐกิจของญี่ปุ่นอย่างมีนัยสำคัญในระยะยาว
ธุรกิจภาคบริการของญี่ปุ่นเติบโตเป็นประวัติการณ์
ภาคบริการของญี่ปุ่นเติบโตสูงสุดเป็นประวัติการณ์ในเดือนเมษายน โดยได้รับแรงหนุนจากการใช้จ่ายของผู้บริโภคที่เพิ่มขึ้นหลังสิ้นสุดมาตรการ Covid-19
ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคบริการ (PMI) ของ Au Jibun Bank เพิ่มขึ้นเป็น 55.4 จุดในเดือนเมษายน เพิ่มขึ้นจาก 55.0 จุดในเดือนมีนาคม ซึ่งสูงกว่าระดับ 50 ที่แสดงให้เห็นถึงการเติบโตของเศรษฐกิจ เป็นเดือนที่ 7 ติดต่อกัน
ญี่ปุ่นได้ยุติมาตรการด้าน Covid-19 ที่เข้มงวด เพื่อให้การเดินทางเข้าประเทศมีความสะดวกมากขึ้น ซึ่งมีผู้มาเยือนญี่ปุ่นเพิ่มขึ้นเป็น 1.82 ล้านคนในเดือนมีนาคมที่ผ่านมา สูงสุดนับตั้งแต่เกิดการระบาด
ถึงแม้ว่าญี่ปุ่นจะมีแหล่งท่องเที่ยวที่ขึ้นชื่อและมี Soft power ที่ดึงดูดนักท่องเที่ยวอยู่แล้ว แต่ตัวรัฐบาลเองก็ไม่ได้นิ่งเฉย และยังคงออกนโยบายมาสนับสนุนมากมาย ทำให้ญี่ปุ่นขณะนี้ไม่ต่างจากเสือที่กำลังติดปีกเลยทีเดียว
เศรษฐกิจเวียดนาม
เศรษฐกิจเวียดนามเผชิญกับความท้าทายครั้งใหญ่ในไตรมาส 2
HSBC คาดเวียดนามจะยังคงเผชิญกับความท้าทายทางเศรษฐกิจในไตรมาสที่ 2 ปี 2566 สาเหตุหลักมาจากผลกระทบของโรคระบาดและการหยุดชะงักของห่วงโซ่อุปทาน การเติบโตของ GDP ของเวียดนามมีโอกาสต่ำกว่าคาด
เพื่อลดผลกระทบของความท้าทายเหล่านี้ รัฐบาลเวียดนามกำลังมุ่งเน้นไปที่การส่งเสริมการบริโภคภายในประเทศ เร่งการลงทุนภาครัฐ และเพิ่มขีดความสามารถการแข่งขันทางเศรษฐกิจด้วยการลดความซับซ้อนขั้นตอนการบริหารและลงทุนพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน
ในระยะยาว ความพยายามของภาครัฐจะช่วยเศรษฐกิจเวียดนามฟื้นตัวและเติบโตอย่างยั่งยืน แม้ว่าความท้าทายในปัจจุบันจะมีความสำคัญ แต่ปัจจัยพื้นฐานที่แข็งแกร่งของเวียดนาม จะทำให้เวียดนามกลายเป็นตลาดที่สดใสสำหรับนักลงทุนในอนาคต
Calendar Effect ในตลาดหุ้น เรื่องจริงหรืออุปาทานหมู่
เดือนพฤษภาคมกำลังเริ่มต้นขึ้น คำว่า ‘Sell in May and Go Away’
ก็เริ่มกลับมาให้ได้ยินอีกครั้ง ว่าแต่ว่า
ทำไมต้องขายหุ้นในเดือนพฤษภาคม ความเชื่อนี้เป็นเรื่องจริงหรือไม่
เศรษฐกิจจีน
Caixin เผยแนวโน้มการชะลอตัวของภาคบริการจีน
ธุรกิจภาคบริการของจีนเติบโตต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 4 ในเดือนเมษายน แม้ว่าแนวโน้มจะชะลอตัวลงก็ตาม ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคบริการ (PMI) ของ Caixin/S&P อยู่ที่ 56.4 จุดในเดือนเมษายน ลดลงจาก 57.8 จุดในเดือนก่อนหน้า แต่ยังคงอยู่เหนือระดับ 50 แสดงให้เห็นถึงเศรษฐกิจที่ยังคงเติบโต
นักวิเคราะห์ต่างออกมาเตือนว่าแนวโน้มอาจลดลงอีก เนื่องจากการบริโภคภายในประเทศยังไม่ฟื้นตัวเต็มที่ และจำเป็นต้องมีการสนับสนุนด้านนโยบายมากกว่านี้
โดยเศรษฐกิจจีนเติบโตเร็วเกินคาดในไตรมาสแรก เนื่องจากธุรกิจและผู้บริโภคผ่อนคลายจากมาตรการควบคุม Covid-19 ที่เข้มงวด แต่เศรษฐกิจกำลังเผชิญกับการฟื้นตัวที่ไม่สม่ำเสมอ อย่างไรก็ตามเศรษฐกิจจีนจะยังคงฟื้นตัวต่อเนื่องในไตรมาส 2 แม้การเติบโตจะชะลอตัวลงก็ตาม
จีนจะยังคงสนับสนุนเศรษฐกิจ โดยมุ่งเน้นไปที่อุปสงค์ภายในประเทศ ซึ่งต้องติดตามว่า รัฐบาลจะมีการใช้นโยบายสนับสนุนเพิ่มเติมหรือไม่ เพื่อให้ตัวเลขการเติบโตคงที่อย่างต่อเนื่อง
ข่าวสารต่างๆ เกี่ยวกับเรื่องของตลาดหุ้นและการลงทุน ดูเหมือนเป็นเรื่องเหนือการควบคุม แต่จริงๆ แล้วมันก็มีกลไกเหตุและผลของมันอยู่ อาจจะเกิดขึ้นซ้ำๆ กันบ้าง หรืออาจจะไม่เกิดขึ้นอีกเลยถ้านักลงทุนในตลาดเรียนรู้จากประสบการณ์ที่เกิดขึ้นในอดีตมากพอ
Fed ตัดสินใจขึ้นดอกเบี้ยสูงสุดในรอบ 16 ปี ก็เพราะมีเป้าหมายที่ต้องการลดระดับเงินเฟ้อ วิกฤตธนาคารที่เคยเป็นประเด็นใหญ่หลายสัปดาห์ก็กลับถูกคลี่คลายอย่างรวดเร็วเพราะสหรัฐฯ ไม่ต้องการให้ประวัติศาสตร์ซ้ำรอย
เรื่องของการลงทุนสามารถควบคุมได้มากกว่าที่คุณคิด เพียงแค่คุณต้องเข้าใจให้ได้ว่าอะไรคือสิ่งที่ควรโฟกัสเพราะควบคุมได้ และอะไรคือสิ่งที่คุณควรปล่อยวางไป
จิตใจของคุณเอง และความมุ่งมั่นในการลงทุนระยะยาว ไม่หวั่นไหวกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้นสั้นๆ เป็นสิ่งที่คุณสามารถควบคุมได้มากที่สุดแล้ว
แล้วพบกันใหม่สัปดาห์หน้า
อ่าน Jitta Wealth Journal ย้อนหลัง
Jitta Wealth Journal – ญี่ปุ่นสุดปัง ค่าเงินเยนอ่อนแต่หุ้นพุ่ง!