5 ขั้นตอน เธอกับฉันจับเข่าคุยเรื่องเงินทอง
ไฮไลต์
- ผลสำรวจบอกว่า ‘การเงินมีผลกับชีวิตคู่’ ซึ่งไม่ได้หมายความถึงจำนวนเงินที่มากหรือน้อย แต่หมายถึงความซื่อสัตย์ต่อปัญหาการเงินของตัวเองและคนรัก ซึ่งวิธีแก้ปัญหาคือ การพูดคุยเรื่องการเงินอย่างจริงใจกับคนรัก
- คุณไม่จำเป็นต้องพูดคุยทุกขั้นตอนรวดเดียว จะคุยลึกแค่ไหนอยู่ที่ความสะดวกใจของแต่ละคู่ แต่อยากให้เปิดใจว่าเรื่องนี้คุยกันได้ โดยอาจเริ่มจากคำถามกว้างๆ ก่อนเพื่อเรียนรู้ทัศนคติทางการเงินของกันและกัน และค่อยๆ ขยับมาเป็นการเปิดตัวเลขให้เห็นได้ชัดๆ
- เมื่อความสัมพันธ์เริ่มเห็นเป้าหมายในอนาคตชัดเจนขึ้น คุณก็สามารถจัดลำดับความสำคัญและวางแผนการเงินด้วยกันได้ เพื่อให้บรรลุเป้าหมายที่มีร่วมกัน
คนส่วนใหญ่ยอมรับว่า การพูดคุยกันเรื่องเงินๆ ทองๆ กับคนรักนั้นเป็นเรื่องน่าลำบากใจ ทำให้หลายคนเลือกที่จะหลีกเลี่ยงบทสนทนาเหล่านี้ไปก่อนเพื่อความสบายใจ
แต่รู้หรือไม่ว่าการหลีกเลี่ยงไม่พูดคุยเรื่องนี้สร้างความตึงเครียดให้คู่รักทั่วโลกเป็นอย่างมาก และกลายเป็นหนึ่งในปัญหาลำดับต้นๆ ที่ทำให้หลายคู่ยอมแพ้ จนต้องเลิกราหรือแยกทางกันไป
ผลสำรวจของ AICPA ในปี 2021 ในหัวข้อ ‘ความสัมพันธ์ที่ต้องแยกทางเพราะปัญหาทางการเงิน’ หรือ ‘Relationship Intimacy Being Crushed by Financial Tension’ สรุปเอาไว้ว่าคู่รักชาวอเมริกันเกือบครึ่งประสบปัญหาเรื่องการเงิน และส่งผลเสียต่อความสัมพันธ์ด้วย
นอกจากนี้ 7 ใน 10 ของชาวอเมริกันที่แต่งงานหรือใช้ชีวิตด้วยกันมีความขัดแย้งกันเรื่องเงินทอง และเกินครึ่งของชาวอเมริกันยอมรับว่าพวกเขาต้องจบความสัมพันธ์ลงเพราะความไม่ซื่อสัตย์ในเรื่องการเงิน (Financial infidelity)
จากผลสำรวจ คุณก็พอจะบอกได้ว่าการเงินมีผลกับชีวิตคู่ ซึ่งไม่ได้เกิดจากจำนวนเงินที่มีมากหรือน้อย แต่เกิดจากความซื่อสัตย์ต่อปัญหาการเงินของตัวเองกับคนรักมากกว่า
เราทุกคนมีค่านิยม ทัศนคติ และนิสัยที่แตกต่างกันในเรื่องการจัดการเงิน บางคนถูกเลี้ยงดูมาในครอบครัวที่สอนเรื่องการออมเงิน ในขณะที่บางคนไม่เคยออมเงินเลย ซึ่งวิธีเดียวที่เราจะเข้าใจสิ่งเหล่านี้ได้ทั้งหมดคือการจับเข่าคุยเรื่องการเงินกับคนรัก
แต่จะเริ่มต้นอย่างไรให้ดีและเหมาะสมกับประเด็นที่ดูหนักอึ้งนี้ Jitta Wealth หาวิธีมาให้คุณแล้ว
เริ่มจากบทสนทนาพื้นฐาน
‘ไม่เป็นไร แค่คุยกัน…’
คุณอาจเริ่มต้นด้วย Mindset ง่ายๆ แบบนี้ว่าเรื่องเงินเป็นเรื่องที่พูดคุยกันได้ เป็นเรื่องที่อยู่ในชีวิตประจำวันของพวกเราในทุกๆ วัน
บทสนทนาในช่วงแรก อาจเริ่มต้นด้วยคำถามกว้างๆ ก่อน เช่น ครอบครัวคุณมีวิธีจัดการเรื่องการเงินอย่างไร แล้วคุณมีความคิดเห็นอย่างไร เป้าหมายทางการเงินของคุณคืออะไร ในแต่ละเดือนคุณมีภาระค่าใช้จ่ายอะไรบ้าง
การพูดคุยนี้จะเป็นพื้นฐานให้คุณทั้ง 2 คนรับรู้ถึงเป้าหมายทางการเงินของกันและกัน หรือแม้กระทั่งสิ่งที่คุณทั้งคู่กำลังเผชิญหรืออาจเกิดขึ้นในอนาคต
คุณสามารถปล่อยบทสนทนานี้ให้ไหลลื่นไปเอง ให้เป็นบทสนทนาที่ทั้ง 2 ฝ่ายต่างก็จริงใจ เปิดเผย และอย่าปล่อยให้คนใดคนหนึ่งถามหรือตอบอยู่เพียงฝ่ายเดียว ทั้งคู่ต้องร่วมแบ่งปันและแสดงความคิดเห็นด้วยเพื่อให้รู้จักกันและกันมากขึ้น
ทัศนคติเกี่ยวกับการเงินของคุณทั้งคู่ไม่จำเป็นต้องเหมือนกัน หรือถ้าทัศนคติแตกต่างกันมากคุณก็จะยิ่งเห็นว่าสามารถหาทางแก้ปัญหานี้ไปกับคู่รักของคุณได้อย่างไร ก่อนที่ปัญหาจะลุกลามจนใหญ่โตและเกิดการโต้แย้งกันในภายหลัง
เปิดตัวเลขให้เห็นชัดเจน
เพื่อการวางแผนทางการเงินของคุณทั้งคู่ ก็คงไม่ผิดนักที่การพูดคุยเรื่องการเงินจะลงลึกขึ้นไปอีกระดับ โดยการเปิดเผยตัวเลขจริงอย่างตรงไปตรงมา
ยกตัวอย่างเช่น ตอนนี้คุณมีรายได้เดือนละเท่าไร มีเงินออมอยู่เท่าไร ภาระหนี้สินที่มีทั้งหมด รวมไปถึงทรัพย์สินอื่นๆ เช่น มีเงินลงทุนอยู่ในทรัพย์สินอะไร มูลค่าในปัจจุบันเป็นเท่าไรบ้าง ทั้งหมดนี้จะบอกถึงมูลค่าทรัพย์สินสุทธิ (ทรัพย์สินรวม – หนี้สินรวม) ของคู่เราได้ เป็นการเช็คสุขภาพทางการเงินเบื้องต้นของทั้งคุณและคนรัก
การพูดคุยเรื่องตัวเลขอาจสร้างความไม่สบายใจให้คุณมากขึ้น แต่การพูดคุยกันอย่างเปิดอกถึงเรื่องที่ดูพูดคุยกันยากที่สุดนี้ นอกจากจะทำให้เป้าหมายทางการเงินของคุณทั้งคู่อยู่ร่วมกันได้มากขึ้น ยังช่วยให้คุณทั้งคู่ใกล้ชิดกันมากขึ้นด้วย
หากคุณและคนรักกำลังก้าวสู่การเป็น ‘คู่ชีวิต’ นอกจากการเรียนรู้นิสัยเรื่องการเงินของกันและกันแล้ว อีกเรื่องหนึ่งที่ควรทำคือการพูดคุยว่าคุณทั้ง 2 คนอยาแบ่งทรัพย์สิน หนี้สิน รายรับ และค่าใช้จ่ายอย่างไรหลังแต่งงาน จะใช้เงินรวมกันเป็นกระเป๋าเดียวหรือแยกกันคนละกระเป๋า
หรือแม้กระทั้งว่าหากมีลูกด้วยกันแล้วจะจัดการเรื่องการเงินอย่างไร ก็ถือเป็นอีกระดับของการพูดคุยเรื่องการเงิน ขึ้นอยู่กับเป้าหมายในชีวิตของคุณและคนรัก
ร่วมกันวางเป้าหมายทางการเงิน
ไม่ใช่เฉพาะคู่ที่แต่งงานกันแล้วเท่านั้นที่ต้องตั้งเป้าหมายและวางแผนการเงินร่วมกัน แต่คู่รักที่ยังไม่แต่งงานก็สามารถตั้งเป้าหมายทางการเงินและวางแผนร่วมกันได้
การจัดการเงินในฐานะคู่รักยังไม่มีแนวทางที่แน่ชัด คุณและคนรักเท่านั้นที่จะตัดสินใจได้ดีและเหมาะสมที่สุดในความสัมพันธ์ของคุณ นี่คือเห็นผลว่าทำไมคุณถึงต้องทำพูดคุยเรื่องการเงินของกันและกัน รวมไปถึงเปิดเผยตัวเลขในขั้นตอนที่ 1 และ 2 ก่อนหน้านี้
คู่รักบางคู่อาจตัดสินใจมีบัญชีใช้จ่ายแยกจากกัน จะได้ไม่ต้องคอยกังวลว่าจะใช้เงินในบัญชีร่วมกันเยอะเกินไปโดยไม่ได้ตั้งใจจนเกิดปัญหาได้ ขณะที่บางคู่ตัดสินใจรวมรายได้ของทั้ง 2 ฝ่ายเข้าด้วยกันเพื่อจัดการเรื่องเงินออมและมุ่งไปสู้เป้าหมายในชีวิตร่วมกัน
หรือคุณสามารถเลือกแบบ 3 บัญชี นั่นคือแต่ละฝ่ายมีบัญชีส่วนตัว และมีบัญชีเงินกองกลางสำหรับใช้จ่ายในสิ่งที่ทั้งคุณและคนรักใช้ร่วมกันก็ได้ หรือเพื่อเป้าหมายทางการเงินที่มีร่วมกันก็ได้ เช่น การเก็บเงินเพื่อมีทริปเที่ยวต่างประเทศ ออกไปดินเนอร์หรูๆ ด้วยกัน หรือแม้กระทั่งเป้าหมายที่ใหญ่กว่านั้น เช่น การจัดงานแต่งงาน หรือการซื้อที่อยู่อาศัยร่วมกัน
การตั้งเป้าหมายทางการเงินนั้นรวมถึงการจ่ายคืนหนี้สินต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นหนี้การศึกษาของทั้ง 2 ฝ่าย หรือค่างวดผ่อนรถยนต์ที่ใช้งานร่วมกันก็ได้ เพราะทุกๆ คนมีสัมภาระทางการเงินติดมาด้วยอยู่เสมอ การพูดคุยเรื่องนี้สามารถช่วยคุณแต่ละคนสร้างแผนการชำระหนี้เพื่อให้เป้าหมายทางการเงินของคุณและคนรักเดินหน้าต่อไปได้
แผนการเงินที่วางร่วมกันนี้ ยังรวมไปถึงการวางแผนทำประกันสุขภาพ ประกันชีวิต หรือแผนการลงทุนเพื่ออนาคตของคุณและคนรักเองด้วย
จัดลำดับความสำคัญ
หลังจากตั้งเป้าหมายแล้ว อย่าลืมจัดลำดับความสำคัญ และวางแผนอย่างเป็นขั้นเป็นตอนด้วย เพื่อให้เป้าหมายเป็นจริง
คุณทั้งคู่สามารถพูดคุยกันต่อไปได้ว่า แล้วเป้าหมายเหล่านั้นมีรายละเอียดอย่างไรบ้าง เป้าหมายใดเป็นเป้าหมายระยะสั้น เช่น ทริปท่องเที่ยวต่างประเทศในปีนี้ หรือการต่อเติมหรือซ่อมแซมบ้าน
และเป้าหมายใหญ่ในระยะยาว เช่น การมองหาที่อยู่อาศัยที่กว้างขวางขึ้น การเก็บเงินเพื่อการศึกษาในอนาคตของลูก หรือการจ่ายคืนหนี้สินระยะยาวที่มีให้หมด รวมถึงการจัดลำดับความสำคัญให้กับเป้าหมายต่างๆ ที่คุณทั้ง 2 คนมีร่วมกัน
ยกตัวอย่างเช่น การเคลียร์หนี้สินระยะสั้นก้อนใหญ่ๆ ที่คิดอัตราดอกเบี้ยสูง ยิ่งคุณทั้งคู่ชำระหนี้ลักษณะนี้ให้หมดได้เร็ว คุณก็ยิ่งจะมีเงินเก็บร่วมกันกันได้มากขึ้นและช่วยให้บรรลุเป้าหมายอื่นๆ ต่อไปได้ง่ายขึ้นด้วย
ฤกษ์ที่ดี คือเลิกรอ
หลังจากที่ได้พูดคุยการทำความเข้าใจเรื่องการเงินของกันและกัน ได้ร่วมตั้งเป้าหมาย วางแผน และจัดอันดับความสำคัญร่วมกันเรียบร้อยแล้ว ทั้งคุณและคนรักสามารถเริ่มทำตามแผนที่วางเอาไว้ได้เลย
ในขั้นตอนนี้ อาจจะมอบหมายหน้าที่ให้ใครสักคนเป็นผู้ทำบัญชีรายรับ-รายจ่ายให้สอดคล้องกับแผนที่คุณทั้งคู่วางไว้ เช่น แต่ละฝ่ายต้องเก็บเงินจำนวนเท่าไรของรายได้แต่ละเดือน เพื่อเป้าหมายระยะสั้นและยาวที่มีร่วมกัน
หากในแผนการเงินของคุณทั้งคู่มี ‘การลงทุน’ เป็นหนึ่งในเป้าหมาย ทีมงาน Jitta Wealth บอกได้เลยว่ายิ่งเริ่มเร็วก็ยิ่งได้เปรียบ การเก็บเงินลงทุนสม่ำเสมออย่างเป็นระบบและการมีวินัยในการลงทุนจะทำให้คุณประสบความสำเร็จในการลงทุนได้ รวมไปถึงเป้าหมายที่ยิ่งใหญ่ที่หลายๆ คนปรารถนาอย่าง ‘การมีอิสรภาพทางการเงิน’
ก่อนที่คุณทั้งคู่จะเริ่มลงทุน ควรศึกษาก่อนว่าการลงทุนคืออะไร มีทรัพย์สินประเภทใดบ้างที่ลงทุนได้ จากนั้นต้องพูดคุยและตกลงกันถึงความเสี่ยงที่คุณทั้งคู่รับได้ เพื่อเลือกสินทรัพย์ที่สอดคล้องกับความเสี่ยงนั้น และเริ่มต้นลงทุนจากเงินน้อยๆ ก่อนก็ได้ เช่น แบ่งเงิน 5-10% ของรายได้มาลงทุนทุกเดือนแบบ DCA เพื่อให้คุ้นเคยกับการขึ้นลงของราคาสินทรัพย์ และสร้างสมวินัยไปในตัว
Jitta Wealth สามารถช่วยคุณได้เช่นกัน เพราะไม่ใช่ทุกคนที่จะมีเวลาศึกษาเรื่องการลงทุนอย่างละเอียด การมีผู้จัดการกองทุนส่วนบุคคลอยู่เคียงข้างเส้นทางการลงทุนจะช่วยคุณได้ใช้เวลากับสิ่งที่มีความหมายกับชีวิตมากขึ้น แต่ก็ยังสามารถบรรลุเป้าหมายทางการเงินของคู่ของคุณในพร้อมๆ กันได้ด้วย
Jitta Wealth มีนโยบายทางการเงินที่ตอบโจทย์หลากหลายความเสี่ยงให้คุณเลือกลงทุน สามารถอ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่
คุณและคนรักของคุณสามารถศึกษาแนวทางการลงทุนของกองทุนส่วนบุคคล Jitta Wealth เพิ่มเติมได้ที่เว็บไซต์ หรือสอบถามเจ้าหน้าที่แนะนำการลงทุนได้ที่ Line ID: @JittaWealth
- Global ETF https://jittawealth.com/global-etf
- Thematic ETF https://jittawealth.com/thematic
- Jitta Ranking https://jittawealth.com/jitta-ranking
กองทุนส่วนบุคคล Jitta Wealth บริหารจัดการโดย บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน จิตตะ เวลธ์ จำกัด ผู้บุกเบิกสตาร์ตอัป WealthTech สัญชาติไทยรายแรก ที่ได้รับใบอนุญาตจากกระทรวงการคลัง กำกับโดยสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ ใบอนุญาตเลขที่ ลค-0105-01
ผลตอบแทน การเปรียบเทียบหรือการจัดอันดับการดำเนินงานในอดีตที่เกี่ยวข้องกับการลงทุน ไม่การันตีผลตอบแทนในอนาคต การลงทุนมีความเสี่ยง ผู้ลงทุนควรทำความเข้าใจนโยบายการลงทุน เงื่อนไขผลตอบแทน ความเสี่ยงด้านอัตราแลกเปลี่ยน และความเสี่ยงอื่นๆ ก่อนตัดสินใจลงทุน
อ้างอิง
- Relationship Intimacy Being Crushed by Financial Tension: AICPA Survey https://www.aicpa.org/news/article/relationship-intimacy-being-crushed-by-financial-tension-aicpa-survey
- Love & Money: 5 Steps to help couples strengthen financial compatibility https://www.360financialliteracy.org/Topics/Spending-Saving/Goal-Setting/Love-Money-5-steps-to-help-couples-strengthen-financial-compatibility
- Money and Relationship: How to discuss money in a relationship. https://www.westpac.com.au/help/lifemoments/setting-up-life/love-money/how-to-discuss-money/
- จัดพอร์ตให้เป๊ะ เกษียณให้ไว “ผ่อนส่องความมั่งคั่ง” ได้สไตล์คนรุ่นใหม่ https://positioningmag.com/1400034