อัปเดตการลงทุนนโยบาย Thematic Optimize และ Jitta Ranking ปี 2566
ไฮไลต์
- Jitta Wealth อัปเดตการลงทุนนโยบาย Thematic Optimize และ Jitta Ranking ประจำปี 2566 เพื่อเสริมประสิทธิภาพการลงทุนให้คุณ
- ทีมงานเพิ่มประสิทธิภาพให้อัลกอริทึมแผน Thematic Optimize ซึ่งทดสอบแล้วว่ายังทำผลตอบแทนได้ดีกว่า 89% ของการเลือกธีมแบบสุ่ม
- อัลกอริทึมของ Jitta Ranking ปรับแนวทางวิเคราะห์หุ้น IPO ช่วง 2 ปีแรกใหม่ ให้คุณมีโอกาสได้ลงทุนหุ้น IPO พื้นฐานดีราคาถูกมากยิ่งขึ้น และปรับจำนวนหุ้นสูงสุดของแต่ละแผนการลงทุนให้เป็น 20 บริษัททุกแผน เพื่อให้พอร์ตมีการกระจายความเสี่ยงเร็วขึ้น แต่ยังคงศักยภาพการทำผลตอบแทนชนะตลาดได้ดีเช่นเดิม
- แนวทางการลงทุนใหม่ทั้งของ Thematic Optimize และ Jitta Ranking จะถูกนำไปใช้โดยอัตโนมัติเมื่อถึงคิวการปรับพอร์ตครั้งต่อไปของคุณหลังวันที่ 3 มกราคม 2566
เป็นประจำทุกปี ที่เราจะรวบรวมสิ่งที่ได้เรียนรู้ ปัญหาที่ได้พบ ข้อติชมและเสนอแนะที่ได้รับจากนักลงทุนในปีที่ผ่านมา มาวิจัย พัฒนา และทดสอบเทคโนโลยีการลงทุนของเรา เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพให้ดีขึ้นในทุกสภาวะตลาด
ด้วยความมุ่งมั่นที่จะช่วยนักลงทุนสร้างผลตอบแทนดีขึ้นด้วยวิธีที่เรียบง่าย พาทุกคนไปให้ถึงเป้าหมายการลงทุนที่วาดฝันไว้
สำหรับปีนี้ ปีที่การลงทุนผันผวนสูงมาก สร้างความกังวลให้นักลงทุนที่ไม่คุ้นเคยกับตลาดหุ้นที่พร้อมใจกันปรับตัวลงตามข่าวที่ออกมาไม่เว้นแต่ละวัน เราก็ได้เรียนรู้และเข้าใจความต้องการของนักลงทุนเพิ่มขึ้นเป็นพิเศษ
เราเข้าใจว่าสถานการณ์แบบนี้อาจทำให้นักลงทุนหลายคนสงสัยว่าหลักการลงทุนหรือการทำงานของอัลกอริทึมที่ Jitta Wealth ใช้ในการคัดเลือกหุ้นและ ETF มาให้ลงทุนนั้นยังมีประสิทธิภาพเหมือนเดิมหรือไม่
ตลอดปีที่ผ่านมาทีมงานได้มอนิเตอร์ วิเคราะห์ ทบทวนข้อมูลการลงทุนทุกนโยบายต่างๆ อยู่เสมอ และพบว่าการทำงานของเทคโนโลยี Jitta Wealth ยังเป็นไปตามหลักการลงทุนระยะยาวที่ถูกต้องตามแนวทางที่มีสถิติพิสูจน์ เมื่อหลักการหรือ ‘เหตุ’ ถูกต้อง ‘ผล’ ที่ถูกต้อง หรือเป้าหมายกำไรระยะยาว ก็ควรจะตามมา
ดังนั้น ไม่ว่าตลาดหุ้นจะขึ้นหรือลง เรายังคงยึดมั่นกับการพัฒนาเทคโนโลยีของเราให้ดีขึ้นอย่างต่อเนื่องภายใต้กรอบการลงทุนระยะยาวแบบ Passive ในสินทรัพย์คุณภาพดี ราคาเหมาะสม ซึ่งปีนี้ สิ่งที่ได้รับการพัฒนาให้ละเอียด แม่นยำ ประสิทธิภาพดียิ่งขึ้น ประกอบด้วยอัลกอริทึมของนโยบาย Thematic Optimize และอัลกอริทึมวิเคราะห์หุ้นและแนวทางการจัดพอร์ตของนโยบาย Jitta Ranking ตามรายละเอียดดังนี้
1. อัปเดตอัลกอริทึม Thematic Optimize
นโยบาย Thematic Optimize คือ การลงทุนในธีมธุรกิจเมกะเทรนด์ที่น่าสนใจ มีแนวโน้มเติบโตได้อีกไกลใน 10-20 ปีข้างหน้า ราคายังเหมาะสมกับการลงทุนระยะยาว และความผันผวนต้องสมดุลกับโอกาสการเติบโต โดยใช้เทคโนโลยีคัดเลือก 4 ธีมที่เข้าเกณฑ์ และปรับพอร์ตแบบอัตโนมัติ
ในการคัดเลือกธีม อัลกอริทึมจะเจาะลึกเข้าไปวิเคราะห์งบการเงินของทุกบริษัทที่อยู่ในธีมนั้นๆ แล้วเลือกเอา 4 ธีมที่ดีที่สุดมาให้คุณลงทุน
เพื่อเพิ่มความแม่นยำให้การคัดเลือกธีมเมกะเทรนด์มีประสิทธิภาพมากขึ้นไปอีกขั้น ในปีหน้าเราจะพัฒนาการทำงานของอัลกอริทึม Thematic Optimize ใน 2 มิติด้วยกัน ได้แก่ การพัฒนาอัลกอริทึมจัดอันดับ ETF ให้ทำงานได้ละเอียดแม่นยำยิ่งขึ้น และตัดธีมลงทุนรายประเทศออกจากการลงทุน Thematic Optimize
1.1 พัฒนาอัลกอริทึมวิเคราะห์จัดอันดับ ETF ที่ละเอียดแม่นยำยิ่งขึ้น
อัลกอริทึม Thematic Optimize ปรับน้ำหนักการคำนวณอัตราส่วนทางการเงินต่างๆ เพื่อวิเคราะห์ความน่าลงทุนของธุรกิจเมกะเทรนด์ให้ละเอียดยิ่งขึ้น พร้อมถ่วงน้ำหนักผลวิเคราะห์ตามสัดส่วนการลงทุน (Holding Weight) ทำให้สามารถคัดธีมเมกะเทรนด์ที่เติบโตอย่างแข็งแกร่งมาจัดพอร์ตได้อย่างแม่นยำขึ้นอีก
ตั้งแต่ Jitta Wealth เปิดให้ลงทุนแบบ Thematic Optimize มาประมาณ 1 ปีกว่า เราได้เพิ่มธีมเมกะเทรนด์ใหม่ๆ เป็นทางเลือกให้นักลงทุนมากขึ้นเรื่อยๆ จากแรกเริ่ม 10 ธีม เพิ่มเป็น 23 ธีมในวันนี้ และเรายังได้ผ่านปีที่ตลาดมีความผันผวนมากๆ อย่างปี 2022 ทำให้ตอนนี้เราได้รับข้อมูลที่หลากหลาย มาประกอบการทดสอบสมมุติฐานใหม่ๆ มากขึ้นในการพัฒนา AI ให้สามารถทำผลตอบแทนระยะยาวได้ดีขึ้น โดย 2 สิ่งหลักๆ ที่เราได้ปรับเพิ่มในการพัฒนา AI ในครั้งนี้คือ 1) การปรับวิธีคำนวณการเติบโตของธีมเมกะเทรนด์ ด้วยการเพิ่มน้ำหนักการคำนวณให้บางอัตราส่วนทางการเงินมากขึ้น และ 2) การถ่วงน้ำหนักผลวิเคราะห์ดังกล่าวด้วยสัดส่วนการถือครองหุ้นนั้นๆ (Holding Weight)
1.1.1 การปรับเพิ่มน้ำหนักที่ใช้ในการคำนวณอัตราส่วนทางการเงินต่างๆ
อัลกอริทึม Thematic Optimize จะจัดอันดับธีมทั้งหมด เพื่อคัดเลือกธีมที่น่าลงทุนที่สุด 4 ธีมมาจัดพอร์ตให้นักลงทุน โดยมีเกณฑ์ว่าธีมที่น่าลงทุนที่สุดจะต้องเป็นธีมที่เติบโตดี และผลตอบแทนต้องสมดุลกับความเสี่ยงด้วย
ที่ผ่านมา เกณฑ์ที่ใช้วัดการ ‘เติบโตดี’ คือ ตัวเลขการเติบโตต่างๆ ของอุตสาหกรรมที่ได้จากการวิเคราะห์งบการเงินของทุกบริษัทใน ETF โดยให้น้ำหนักกับ ‘การเติบโตของรายได้’ มากกว่าตัวเลขอัตราส่วนทางการเงินอื่นๆ เพื่อสะท้อนแนวทางการวิเคราะห์หุ้นเติบโตสูงที่มักใช้กับหุ้นเทคโนโลยี และเป็นแนวทางการวิเคราะห์ที่พิสูจน์ด้วยข้อมูล ณ เวลานั้นแล้วว่าให้ผลตอบแทนดีที่สุด
แต่ในปีนี้ เมื่อเรามีข้อมูลมากขึ้นจากการเปิดธีมเมกะเทรนด์ใหม่ๆ และสภาวะตลาดหุ้นที่ผันผวนตามที่ได้กล่าวไป เราจึงมีโอกาสได้วิจัยและทดสอบสมมติฐานใหม่ๆ เพื่อพัฒนาให้อัลกอริทึมสามารถคัดกรองธีมเมกะเทรนด์ที่มีโอกาสเติบโตสูงได้ลึกและละเอียดยิ่งกว่าเดิม ด้วยการเพิ่มน้ำหนักการวิเคราะห์ให้กับอัตราส่วนทางการเงินอีกหลายตัวที่สะท้อนประสิทธิภาพการทำกำไรและการควบคุมค่าใช้จ่ายของแต่ละบริษัทในธีมเมกะเทรนด์ให้มากขึ้น
โดยตัวอย่างอัตราส่วนทางการเงินที่ได้รับการปรับเพิ่มน้ำหนักการวิเคราะห์ในรอบนี้ คือ
- อัตรากำไรขั้นต้น (Gross Profit Margin)
- อัตรากำไรจากการดำเนินงาน (Operating Profit Margin)
- กระแสเงินสดจากกิจกรรมการดำเนินงาน (Cash Flow from Operating)
- อัตราส่วนค่าใช้จ่ายในการขายและบริหารต่อยอดขายรวม (SG&A/Sales)
การเพิ่มน้ำหนักการคำนวณอัตราส่วนทางการเงินเหล่านี้ จะทำให้อัลกอริทึมสามารถคัดเลือกธีมเมกะเทรนด์ที่เหมาะกับการลงทุนในแต่ละช่วงได้แม่นยำขึ้น เพื่อให้สอดคล้องกับสภาวะตลาดหุ้นที่อาจพลิกกลับเป็นขาขึ้นในอนาคต เห็นได้จากผลตอบแทนระยะยาวของการลงทุน Thematic Optimize ที่สูงขึ้นกว่าเดิม (ตาม Back Test ในข้อ 1.3)
1.1.2 ถ่วงน้ำหนักการวิเคราะห์ด้วยสัดส่วนการลงทุนใน ETF
นอกจากจะปรับวิธีการคำนวณการเติบโตของธุรกิจเมกะเทรนด์ในแต่ละธีมแล้ว อีกส่วนที่เราเปลี่ยนแปลงควบคู่ไปด้วยกัน ก็คือการถ่วงน้ำหนักผลการวิเคราะห์ที่กล่าวมาด้วยสัดส่วนการถือครองหุ้นใน ETF นั้นๆ แทนที่การถ่วงน้ำหนักด้วยขนาดธุรกิจ
ตามที่ได้เกริ่นไปก่อนหน้านี้ จุดประสงค์ของนโยบาย Thematic Optimize คือลงทุนในการเติบโตของธีมเมกะเทรนด์ทั้งธีม แต่แทนที่เราจะโฟกัสวิเคราะห์เศรษฐกิจมหภาคหรืออุตสาหกรรม Jitta Wealth ใช้ประโยชน์จากข้อมูลงบการเงินของทุกบริษัทที่มีอยู่ในระบบของเรา แล้วนำไปวิเคราะห์พื้นฐานธุรกิจในธีมเมกะเทรนด์ จากนั้นนำผลวิเคราะห์ที่ได้มาประมวลเป็นความน่าลงทุนของ ETF ซึ่งเป็นตัวแทนของธีมเมกะเทรนด์นั้นๆ
ในการแปลงข้อมูลพื้นฐานธุรกิจให้เป็นความน่าลงทุนของ ETF ได้อย่างแม่นยำ เราจำเป็นต้องประมวลผลวิเคราะห์การเติบโตของธีมเมกะเทรนด์โดยรวมให้ดี วิธีที่เราเลือกใช้ตั้งแต่ต้น คือการนำตัวเลขทางการเงินต่างๆ ของบริษัทที่อยู่ใน ETF มาบวกกันจนได้ออกมาเป็นงบการเงินรวมของธีมเมกะเทรนด์นั้นๆ แล้วจึงวิเคราะห์การเติบโตจากตัวเลขงบการเงินรวมที่ได้ โดยไม่คำนึงถึงสัดส่วนการลงทุน (Weight) หุ้นแต่ละตัวใน ETF
เช่น เมื่อเรานำรายได้และกำไรขั้นต้นของทุกบริษัทใน ETF มารวมกัน แล้วคำนวณออกมาเป็นอัตรากำไรขั้นต้น (Gross Profit Margin) ของธีมได้ ทำให้เรารู้ว่าทั้งธีมเมกะเทรนด์นี้ มีรายได้รวม กำไรขั้นต้นรวม และอัตรากำไรขั้นต้นเติบโตขึ้นอย่างไรในแต่ละปี
ข้อดีของวิธีนี้ คือ สะท้อนพื้นฐานของธีมเมกะเทรนด์ผ่านตัวเลขทางการเงินที่เกิดขึ้นจริงเพียงอย่างเดียว โดยไม่นำเอาสัดส่วนการลงทุนในแต่ละบริษัทของ ETF มารบกวน ทำให้เราเห็นภาพรวมการเติบโตของแต่ละธีมเมกะเทรนด์ได้อย่างเที่ยงตรงและแม่นยำ ดังตัวอย่างที่ 1
ตัวอย่างที่ 1 | บริษัท A | บริษัท B | รวมทั้งธีม |
รายได้ | 900,000 | 100,000 | 1,000,000 |
กำไรขั้นต้น | 500,000 | 50,000 | 550,000 |
อัตรากำไรขั้นต้น | 55% |
ในรอบการรีวิวครั้งต่อไป ถ้ารายได้ กำไรขั้นต้น และอัตรากำไรขั้นต้นออกมาสูงกว่าเดิม ก็แสดงว่าทั้งธีมเมกะเทรนด์นั้นเติบโตขึ้น (ซึ่งทำให้น่าลงทุนมากขึ้น) ในทางกลับกัน ถ้าผลประกอบการออกมาต่ำลงก็แสดงว่าทั้งธีมเมกะเทรนด์นั้นหดตัวลง (ซึ่งทำให้น่าลงทุนน้อยลง)
นอกจากวิธีวิเคราะห์ด้วยงบการเงินรวมจะทำให้เราเห็นภาพการเติบโตของธีมเมกะเทรนด์โดยรวมได้ชัดเจนแล้ว ข้อดีอีกอย่างของวิธีนี้ คือ การช่วยบริหารความเสี่ยงหรือความผันผวนจากการลงทุนที่เกิดจากปัจจัยที่เราควบคุมไม่ได้อื่นๆ เช่น สัดส่วนการลงทุนหรือ Holding Weight ของ ETF ที่ขึ้นกับราคาหุ้นในแต่ละวัน
เพราะถ้าราคาหุ้นเปลี่ยนแปลง ตัวเลข Market Cap และมูลค่ารวมของ ETF ก็จะเปลี่ยนแปลง ส่งผลให้สัดส่วนการลงทุนใน ETF เปลี่ยนแปลงตาม ซึ่งจะทำให้การวิเคราะห์การเติบโตของธีมเมกะเทรนด์เปลี่ยนแปลงไปด้วย แม้ว่าในบางครั้งอาจจะไม่ได้เกี่ยวข้องกับการเติบโตจริงๆ ของธีมเมกะเทรนด์เลย ดังตัวอย่างที่ 2
ตัวอย่างที่ 2 | ช่วงที่ 1 | ช่วงที่ 2 | ||||
บริษัท A | บริษัท B | รวม | บริษัท A | บริษัท B | รวม | |
สัดส่วนการลงทุน | 50% | 50% | 100% | 70% | 30% | 100% |
รายได้ | 450,000 | 50,000 | 500,000 | 630,000 | 30,000 | 660,000 |
กำไรขั้นต้น | 250,000 | 25,000 | 275,000 | 350,000 | 15,000 | 365,000 |
อัตรากำไรขั้นต้น | 55% | 55.3% |
จากตัวอย่างนี้จะเห็นว่า แม้ธีมเมกะเทรนด์โดยรวมจะไม่ได้เติบโตขึ้น เพราะรายได้และกำไรขั้นต้นของธีมเมกะเทรนด์ทั้งบริษัท A และ B ยังเท่ากับในตัวอย่างที่ 1 แต่การเปลี่ยนสัดส่วนการลงทุนของ ETF ในบริษัท A และ B ในแต่ละช่วงเวลา (จาก 50/50 เป็น 70/30) ทำให้เมื่อวิเคราะห์ด้วยการถ่วงน้ำหนักสัดส่วนการลงทุนแล้ว ดูเหมือนกับว่าธีมเมกะเทรนด์นี้มีรายได้ กำไรขั้นต้น และอัตรากำไรขั้นต้นที่ดีขึ้น เป็นต้น
ซึ่งถ้าเรานำสัดส่วนการลงทุนของ ETF มาใช้ในการวิเคราะห์และคัดเลือกธีม ก็จะมีความเสี่ยงที่จะทำให้การวิเคราะห์การเติบโตของธีมเมกะเทรนด์มีโอกาสเบี่ยงเบนจากความเป็นจริงได้ไม่มากก็น้อย ขึ้นอยู่กับสัดส่วนการลงทุนในแต่ละบริษัทของ ETF ที่เปลี่ยนแปลงตามราคาหุ้น และมีโอกาสที่จะทำให้พอร์ตลงทุนของคุณผันผวนมากขึ้น
แต่การวิเคราะห์ด้วยสัดส่วนการลงทุนใน ETF และเลือกเผชิญหน้ากับความผันผวนก็มีข้อดี ในแง่ที่ว่าคุณอาจสร้างผลตอบแทนส่วนเพิ่มจากการวิเคราะห์แบบเดิมได้เช่นกัน เพราะมูลค่าหรือราคาของ ETF ไม่ได้เกิดจากปัจจัยพื้นฐานของธุรกิจภายใน ETF อย่างเดียว แต่ยังเกิดจากสัดส่วนการลงทุนในแต่ละบริษัทด้วย เหมือนกับเวลาที่คุณลงทุนหุ้นด้วยตัวเอง ถ้าคุณถือหุ้นที่ดีในสัดส่วนที่สูง พอร์ตของคุณก็มีโอกาสเติบโตมากกว่า หรือในทางกลับกัน วิธีนี้ก็อาจจะสร้างผลตอบแทนได้น้อยลงเช่นกันถ้าคุณวิเคราะห์พื้นฐานของธุรกิจผิดพลาดแต่ลงทุนเป็นสัดส่วนที่สูง
ในช่วงแรกที่ Thematic Optimize เปิดให้ลงทุนปลายปีที่แล้ว เราให้ความสำคัญกับการควบคุมความเสี่ยง จึงตัดปัจจัยต่างๆ ที่ไม่เกี่ยวข้องกับพื้นฐานและการเติบโตที่แท้จริงของธีมเมกะเทรนด์ออกไปทั้งหมด จึงเลือกใช้วิธีวิเคราะห์ด้วยการถ่วงน้ำหนักตามงบการเงินและคัดเลือก 4 ธีมเมกะเทรนด์ที่น่าลงทุนที่สุด จากตัวเลขทางการเงินที่เกิดขึ้นในธีมเมกะเทรนด์นั้นจริงๆ
แต่วันนี้ เมื่อเรามีธีมเมกะเทรนด์เปิดให้บริการมากขึ้น ความเสี่ยงเรื่องความผันผวนจากสัดส่วนการลงทุนใน ETF ก็มีน้อยลงไปด้วย เพราะถูกชดเชยจากการมีธีมให้เลือกลงทุนมากขึ้น และการวิเคราะห์พื้นฐานและการเติบโตของธีมที่แม่นยำขึ้น
และเมื่อเรามีข้อมูลความผันผวนของพอร์ตการลงทุนจริงมาวิเคราะห์มากขึ้น เราจึงสามารถจำลองรูปแบบการลงทุนระหว่างวิธีคิดทั้ง 2 แบบมาเปรียบเทียบกันได้ในหลายมิติ และเห็นได้ชัดว่าการมีธีมให้เลือกลงทุนมากขึ้น และการวิเคราะห์ธีมที่ละเอียดขึ้นช่วยลดความเสี่ยงตรงนี้ไปได้อย่างมาก
เราจึงตัดสินใจปรับวิธีวิเคราะห์ธีมเมกะเทรนด์จากการถ่วงน้ำหนักด้วยงบการเงินจริงๆ ของธีมเมกะเทรนด์ มาเป็นการถ่วงน้ำหนักด้วยสัดส่วนการลงทุนในแต่ละบริษัทของ ETF แทน
ซึ่งก็ประจวบเหมาะกับที่ในปีนี้ตลาดหุ้นปรับตัวลงมาเยอะมาก ทำให้การปรับอัลกอริทึมแบบนี้มีโอกาสที่จะทำให้พอร์ตเติบโตได้เร็วขึ้น เมื่อตลาดหุ้นกลุ่มเมกะเทรนด์กลับมาเป็นขาขึ้นอีกครั้ง
เพราะวิธีวิเคราะห์ด้วยสัดส่วนการลงทุน แม้จะทำให้พอร์ตของคุณผันผวนมากขึ้นกว่าวิธีเดิม แต่ก็สามารถทำผลตอบแทนได้คุ้มค่ากับ Upside Gain หรือโอกาสการเติบโตของพอร์ตที่จะเพิ่มขึ้นในอนาคต จากการทดสอบย้อนหลัง (ตาม Back Test ในข้อ 1.3)
1.2 ตัดธีมตลาดหุ้นรายประเทศออกจากการวิเคราะห์จัดอันดับ
อัลกอริทีม Thematic Optimize ยกเว้นการลงทุนในธีมตลาดหุ้นรายประเทศ และโฟกัสไปที่ธีมเมกะเทรนด์โดยเฉพาะ ตามจุดประสงค์ของการลงทุนในธุรกิจแห่งอนาคตที่มีแนวโน้มเติบโตสูง ซึ่งได้รับการพิสูจน์แล้วว่าสร้างผลตอบแทนที่ดีกว่าในระยะยาว
ตามที่ได้ชี้แจงในตอนต้น นโยบาย Thematic Optimize คือ การลงทุนในธีมธุรกิจเมกะเทรนด์ที่น่าสนใจ รายได้ดี มีแนวโน้มเติบโตได้อีกไกลใน 10-20 ปีข้างหน้า หมายความว่า ธีมลงทุนรายประเทศ แม้จะน่าลงทุนมากเพียงใด ก็ไม่ได้ตอบโจทย์การลงทุนเมกะเทรนด์เท่าใดนัก
นอกจากนี้ การวิจัยและทดสอบผลตอบแทนย้อนหลัง ทำให้เราค้นพบว่า แม้ธีมตลาดหุ้นรายประเทศจะเข้าเกณฑ์การจัดอันดับของ Thematic Optimize ในบางจังหวะ แต่ไม่ได้ช่วยให้ผลตอบแทนระยะยาวของพอร์ต Thematic Optimize ดีขึ้น กลับกัน ธีมตลาดหุ้นรายประเทศทำให้กำไรโดยรวมในระยะยาวของพอร์ตลดน้อยลง
หลังการทดลองและทดสอบอย่างละเอียดรอบคอบ เราเชื่อมั่นว่าการตัดธีมตลาดหุ้นรายประเทศออกจากการวิเคราะห์จัดอันดับและการลงทุนของ Thematic Optimize จะส่งผลดีต่อการลงทุนของคุณในระยะยาว จึงได้ปรับการทำงานของอัลกอริทึมตามที่ได้กล่าวมา
1.3 Back Test แผน Thematic Optimize หลังอัปเดตอัลกอริทึมใหม่
เราได้ทดสอบผลตอบแทนย้อนหลัง (Back Test) ของการลงทุนแผน Thematic Optimize โดยใช้อัลกอริทึมที่ถูกอัปเดตใหม่ตามข้อ 1.1 ถึง 1.2 โดยใช้ข้อมูลตั้งแต่วันที่ 31 ธันวาคม 2560 – 30 กันยายน 2565
พบว่าการอัปเดตอัลกอริทึมใหม่ ทำให้ผลตอบแทนระยะยาวของแผน Thematic Optimize ดียิ่งขึ้น
ผลตอบแทน (ตารางด้านล่าง) ได้รวมปันผล และหักค่าธรรมเนียมต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการลงทุนแผน Thematic Optimize ทั้งหมดแล้ว
หากคุณลงทุนแผน Thematic Optimize อยู่ อัลกอริทึมใหม่จะคัดเลือก 4 ธีมเมกะเทรนด์ที่ดีที่สุดให้คุณทดแทนเวอร์ชันเดิมโดยอัตโนมัติเมื่อถึงคิวปรับพอร์ตครั้งต่อไปของคุณ นับจากวันที่ 3 มกราคม 2566
นอกจากการทดสอบผลตอบแทนย้อนหลัง (Back Test) แล้ว เรายังทดสอบความสามารถในคัดเลือกธีมของอัลกอริทึมใหม่ด้วยว่า ถ้าเทียบกับการเลือกธีมแบบสุ่มมา 4 ธีมและไม่ปรับพอร์ตแล้ว การลงทุนด้วยวิธีไหนจะให้ผลตอบแทนสูงกว่ากัน
โดยเราทดสอบความสามารถในการเลือกธีมด้วยแบบจำลอง 2 แบบ ซึ่งมีรายละเอียดดังนี้
แบบจำลองที่ 1: เลือกธีมเมกะเทรนด์ 16 ธีมจาก 19 ธีมมาทั้งหมด 969 รูปแบบ ซึ่งเท่ากับรูปแบบการเลือกที่เป็นไปได้ทั้งหมด เพื่อบังคับให้อัลกอริทึมเลือกธีมจากข้อมูลชุดใหม่นอกเหนือจากข้อมูลที่ใช้ในการเรียนรู้ จากนั้นให้อัลกอริทึมของ Thematic Optimize วิเคราะห์และคัดเลือก 4 ธีมที่น่าลงทุนที่สุดจาก 16 ธีมในขั้นตอนแรกและปรับพอร์ตทุก 3 เดือน แล้วนำผลตอบแทนที่ทำได้ตลอดช่วงเวลาที่ทดสอบมาเปรียบเทียบกับผลตอบแทนจากการเลือกลงทุน 4 ธีม (จาก 16 ธีม) แบบไม่ปรับพอร์ต ในทุกรูปแบบที่เป็นไปได้ทั้งหมด
แบบจำลองที่ 2: เลือกธีมเมกะเทรนด์ 19 ธีมจาก 62 ธีมมาทั้งหมด 1,000 รูปแบบเพื่อบังคับให้อัลกอริทึมเลือกธีมจากชุดข้อมูลใหม่นอกเหนือจากข้อมูลชุดเดิมที่ใช้ในการเรียนรู้ จากนั้นให้อัลกอริทึมของ Thematic Optimize วิเคราะห์และคัดเลือก 4 ธีมที่น่าลงทุนที่สุดจาก 19 ธีมที่ถูกเลือกมาในขั้นตอนแรกและปรับพอร์ตทุก 3 เดือน แล้วนำผลตอบแทนที่ทำได้ตลอดช่วงเวลาที่ทดสอบมาเปรียบเทียบกับผลตอบแทนจากการเลือกลงทุน 4 ธีม (จาก 19 ธีม) แบบไม่ปรับพอร์ต ในทุกรูปแบบที่เป็นไปได้ทั้งหมด
จนเราได้ผลการทดสอบประสิทธิภาพการคัดเลือกธีมของอัลกอรึทึม Thematic Optimize เปรียบเทียบกับการเลือกธีมแบบสุ่ม ดังตารางด้านล่าง
การทดสอบคัดเลือกธีมของอัลกอริทึม โดยใช้ข้อมูลวันที่ 31 ธันวาคม 2560 – 30 กันยายน 2565
สถิติ | แบบจำลองที่ 1 (ทั้งหมด 19 ธีม) | แบบจำลองที่ 2 (ทั้งหมด 62 ธีม) |
ค่าเฉลี่ยของผลตอบแทนเฉลี่ยแบบทบต้น (Average CAGR) | 9.49% | 8.73% |
เปอร์เซ็นไทล์ | 89.40% | 86.52% |
ที่มา: Jitta Wealth
หมายเหตุ: ค่าเฉลี่ยของผลตอบแทนเฉลี่ยทบต้น เกิดจากการทดสอบแนวคิดของอัลกอริทึม Thematic Optimize เทียบกับวิธีเลือกธีมแบบสุ่มในสภาวะจำลองเท่านั้น จึงไม่รวมค่าธรรมเนียม ปันผล และการส่งคำสั่งซื้อขายหน่วยลงทุน ETF แบบเผื่อความเคลื่อนไหวของราคา
จะเห็นว่าถ้าเทียบกับการเลือกธีมแบบสุ่มแล้ว อัลกอริทึมใหม่ของ Thematic Optimize ทำผลตอบแทนอยู่ในเปอร์เซ็นไทล์ที่ 89 ในการทดสอบเลือกธีมจากทั้งหมด 19 ธีม
แปลว่า ถ้าคุณปล่อยให้อัลกอริทึมใหม่ของ Thematic Optimize เลือกธีมเข้าพอร์ตหลายๆ ครั้ง ผลตอบแทนที่คุณได้รับจะดีกว่าผลตอบแทนจากการเลือกธีมรูปแบบอื่นๆ อีก 89 รูปแบบจากทุกๆ 100 รูปแบบ
และเพื่อให้มั่นใจมากขึ้นว่าอัลกอริทึมสามารถวิเคราะห์และคัดเลือกธีมได้แม่นยำในการลงทุนจริง เราจึงทดสอบโดยการให้สุ่มเลือกธีมมากขึ้นจากเดิมเป็น 19 ธีมจาก 62 ธีม เพื่อเพิ่มจำนวนธีมให้มากกว่าที่เราเปิดให้ลงทุนอยู่ แล้วนำผลตอบแทนที่ได้มาวัดผลเทียบกับการเลือกธีมแบบสุ่ม ปรากฎว่าอัลกอริทึมของ Thematic Optimize ก็ยังทำผลตอบแทนได้ในเปอร์เซ็นไทล์ที่ 86
สถิตินี้เป็นตัวเลขที่ใกล้เคียงกับอัลกอริทึมเวอร์ชันปัจจุบัน ซึ่งแสดงให้เห็นว่า Thematic Optimize ยังรักษามาตรฐานการทำงาน และสร้างผลตอบแทนระยะยาวได้ดีกว่าการเลือกแบบสุ่ม หรือการเลือกธีมเข้าพอร์ตอย่างไม่มีหลักการ
นอกจากนี้ยังพิสูจน์ด้วยว่าอัลกอริทึมของ Thematic Optimize ไม่ได้มีปัญหาการ Overfitting จากชุดข้อมูลที่อัลกอริทึมใช้ในการเรียนรู้
ปัญหา Overfitting นั้นอธิบายให้เห็นภาพง่ายๆ คือการที่อัลกอริทึมสามารถทำตามคำสั่งหรือแก้ปัญหาได้ดีมากในขั้นตอนการเรียนรู้ แต่กลับไม่สามารถทำตามที่นักพัฒนาต้องการได้เมื่อเจอกับข้อมูลในโลกความเป็นจริง
ในเคสนี้ การที่อัลกอริทึมของ Thematic Optimize เลือก ETF ในโลกความจริงแข่งขันกับวิธีการเลือกธีมแบบอื่นๆ และยังทำผลตอบแทนอยู่ในเปอร์เซ็นไทล์ที่ 89 และ 86 ได้ แสดงว่าอัลกอริทึมสามารถแก้ปัญหาหรือ ‘เลือกธีมเมกะเทรนด์ที่มีโอกาสเติบโตสูงและคุ้มค่ากับความผันผวน’ ให้คุณได้เป็นอย่างดี
แต่ทั้งหมดนี้คือการวัดผลลัพธ์ในระยะยาว ไม่ใช่ระยะเวลาเพียง 3 เดือน หรือ 1 ปี หมายความว่าวันนี้ หรือในระยะสั้น ผลตอบแทนของของพอร์ต Thematic Optimize ของคุณอาจจะสร้างผลลัพธ์แพ้การคัดเลือกธีมแบบสุ่มก็ได้ แต่นั่นไม่ได้เป็นสัญญาณว่าผลลัพธ์ในระยะยาวจะแพ้ไปด้วย
อันที่จริง มีโอกาสประมาณ 10% เท่านั้นที่กำไรในระยะยาวของพอร์ต Thematic Optimize ของคุณจะแพ้การคัดเลือกแบบสุ่ม หากคุณเข้าใจในหลักการและอุปสรรคที่จะต้องเผชิญระหว่างการลงทุน และอดทนลงทุนต่อไปอย่างมีวินัยได้แล้ว คุณมีโอกาสชนะถึงเกือบ 90% ซึ่งสูงกว่าทายผลบอลโลกให้ถูกด้วยซ้ำ
2. อัปเดตอัลกอริทึมและแนวทางจัดพอร์ต Jitta Ranking
นโยบาย Jitta Ranking คือการลงทุนใน ‘หุ้นพื้นฐานดี ราคาเหมาะสม’ ที่น่าลงทุนที่สุด ตามการวิเคราะห์จัดอันดับ Jitta Ranking บนแพลตฟอร์มวิเคราะห์หุ้น Jitta
แนวคิดนี้ถอดแบบมาจากปรัชญาการลงทุนเน้นคุณค่าของ Warren Buffett นักลงทุนที่ประสบความสำเร็จที่สุดในโลก และได้รับการพัฒนาเป็นนโยบายลงทุนหุ้นแบบอัตโนมัติ เป็นนโยบายแรกภายใต้การบริหารจัดการของ Jitta Wealth
นับตั้งแต่เปิดตัวมา Jitta Ranking ก็ผ่านการอัปเดต เพื่อเสริมประสิทธิภาพการลงทุนให้ดีขึ้นอย่างสม่ำเสมอ ตั้งแต่การลดระยะเวลาปรับพอร์ตจาก 1 ปีเป็น 3 เดือน ไปจนถึงการลดเงินลงทุนขั้นต่ำจาก 3,000,000 บาทเป็น 500,000 บาท
และในปีที่จะถึงนี้ อัลกอริทึมรวมถึงแนวทางบริหารจัดการพอร์ตของนโยบาย Jitta Ranking ก็จะพัฒนาและปรับเปลี่ยนเพิ่มขึ้นอีกเล็กน้อย ประกอบด้วยวิธีคิดคะแนน Jitta Score ของหุ้น IPO ที่ละเอียดและยืดหยุ่นยิ่งขึ้น และการลดจำนวนหุ้นที่ลงทุนจากสูงสุดประมาณ 30 เป็น 20 หุ้น ตามรายละเอียดดังนี้
นักลงทุนนโยบาย Jitta Ranking อาจมีโอกาสได้ลงทุนหุ้น IPO ที่ ‘พื้นฐานดี ราคาเหมาะสม’ มากขึ้น หลัง Jitta ปรับการคำนวณ Jitta Score ของหุ้น IPO ให้ละเอียด และยืดหยุ่นกว่าเดิม
นักลงทุน VI หลายคนมักหลีกเลี่ยงหุ้น IPO (Initial Public Offering) หรือหุ้นที่เพิ่งจดทะเบียนซื้อขายในตลาดไม่เกิน 2 ปี เพราะมองว่าเป็นหุ้นที่ความเสี่ยงสูง เนื่องจากข้อมูลทางการเงินน้อยเกินไปที่จะวิเคราะห์ธุรกิจได้อย่างแม่นยำ แถมมักเป็นหุ้น ‘ราคาแพง’ ที่ยังไม่มีพื้นฐานรองรับอย่างเพียงพอ
AI ของแพลตฟอร์มวิเคราะห์หุ้น Jitta เองก็มีแนวคิดคล้ายๆ กัน จึงได้ใส่ส่วนลดคะแนน Jitta Score (หนึ่งในปัจจัยที่ส่งผลต่ออันดับ Jitta Ranking) ของหุ้น IPO เพื่อลดความเสี่ยงของการมีข้อมูลทางการเงินน้อยเกินไป ส่วนลดคะแนนนี้จะค่อยๆ หายไปทีละปี สะท้อนความเสี่ยงที่ต่ำลงเมื่อมีข้อมูลให้วิเคราะห์มากขึ้น
นั่นคือสาเหตุว่า ทำไมคุณไม่ค่อยเห็นหุ้น IPO ติดอันดับต้นๆ ของ Jitta Ranking เท่าไร
แต่หลังการอัปเดตอัลกอริทึมในปี 2566 นี้ ส่วนลดคะแนนดังกล่าวจะค่อยๆ หายไปทีละวัน แทนที่จะเป็นรายปี และเมื่อหุ้น IPO นั้นจดทะเบียนซื้อขายในตลาดครบ 2 ปี ส่วนลดคะแนนจะหายไปทั้งหมด
หมายความว่า แม้จะเพิ่ง IPO มา 2 ปี หุ้นนั้นก็มีโอกาสติดอยู่อันดับต้นๆ ของ Jitta Ranking ได้ ถ้าธุรกิจมีคุณภาพดีจริง และกำลังซื้อขายในราคาถูกเมื่อเทียบกับพื้นฐานของธุรกิจอย่างเด่นชัดจริงๆ ทำให้คุณ ‘ไม่พลาด’ การลงทุนใน ‘หุ้นคุณภาพดี ราคาเหมาะสม’ เพียงเพราะหุ้นนั้นเพิ่งจดทะเบียนในตลาดมาได้ไม่นาน
2.2 ปรับแนวทางจัดพอร์ต Jitta Ranking
นโยบาย Jitta Ranking จะปรับวิธีการจัดพอร์ตทุกแผนการลงทุนให้เหมือนกัน ด้วยการกระจายความเสี่ยงซื้อหุ้นประมาณ 5-20 ตัว จากเดิม 5-30 ตัว โดยยังสามารถรักษาศักยภาพในการสร้างผลตอบแทนชนะตลาดได้ดีดังเดิม
นโยบาย Jitta Ranking เป็นการลงทุนตามแนวคิด ‘ซื้อธุรกิจที่ดี ในราคาที่เหมาะสม’ ของ Warren Buffett และบริหารจัดการพอร์ต ‘ตามสูตร’ Quantitative Value Investing หรือ QVI ซึ่ง 1 ในกลยุทธ์ของ QVI ก็คือการซื้อหุ้นจำนวนมากๆ แบบ Equal Weight เพื่อกระจายความเสี่ยง
เพราะการลงทุน ‘ตามสูตร’ คือการลงทุนที่พยายามตัดเอา ‘ความเอนเอียง’ ของมนุษย์ออกไป การจัดพอร์ตกระจายความเสี่ยงก็เลยไม่ลำเอียงให้หุ้นใดหุ้นหนึ่งสำคัญกว่า โดยกระจายซื้อหุ้น 10-30 ตัวด้วยจำนวนเงินเท่าๆ กัน
วิธีนี้ นอกจากจะช่วยลดความเสี่ยงที่เกิดขึ้นจากการ ‘คาดการณ์ผิด’ เพราะเสียงรบกวนทางความคิดแล้ว ยังช่วยนักลงทุนรับมือความเสี่ยงจากเหตุการณ์ไม่คาดฝัน เช่น ไฟไหม้ น้ำท่วม พนักงานรวมกลุ่มหยุดงาน ฯลฯ ได้ด้วย เพราะถ้าเกิดขึ้นจริงก็กระทบหุ้นไม่กี่ตัว พอร์ตไม่ถึงกับเสียหายกู่ไม่กลับ
นี่เป็นแนวคิดเบื้องหลังการจัดพอร์ต Jitta Ranking ด้วยหุ้นประมาณ 5-30 ตัว ของเรา แต่ข้อจำกัดหลายๆ อย่างทำให้การซื้อหุ้น 30 ตัวเป็นไปได้ยากในบางแผน เช่น Jitta Ranking หุ้นเวียดนาม ซื้อหุ้นประมาณ 5-20 บริษัทเท่านั้น ในขณะที่ Jitta Ranking หุ้นไทยซื้อหุ้นประมาณ 5-30 บริษัท
อาจจะดูเหมือนเรื่องเล็กน้อย แต่ก็อาจมองเป็น ‘ความเอนเอียง’ อย่างหนึ่งได้
สมมุติคุณลงทุน Jitta Ranking หุ้นไทย และ Jitta Ranking หุ้นเวียดนามด้วยเงิน 3,000,000 บาทเท่ากัน ในแผน Jitta Ranking หุ้นเวียดนาม คุณจะได้ถือหุ้น 20 บริษัท เท่ากับคุณลงทุน 150,000 บาทต่อหุ้น ส่วน Jitta Ranking หุ้นไทย คุณจะได้หุ้น 30 บริษัท คิดเป็น 100,000 บาทต่อหุ้น
เมื่อมองภาพการลงทุนโดยรวม จะดูเหมือนว่าคุณให้น้ำหนักลงทุนหุ้นเวียดนามแต่ละบริษัทมากกว่าหุ้นไทย ดังนั้น หากหุ้นเวียดนามบริษัทหนึ่งประสบเหตุการณ์ไม่คาดฝัน ก็จะส่งผลกระทบต่อพอร์ตโดยรวมเยอะกว่าหุ้นไทย 1 บริษัท
ทีมงานจึงได้ปรับให้ทุกแผนของ Jitta Ranking ลงทุนหุ้นประมาณ 5-20 บริษัทเท่ากันทั้งหมด หมายความว่า สัดส่วนเงินลงทุนขั้นต่ำของหุ้นแต่ละตัวจะอยู่ที่ 100,000 บาทเท่ากัน
การเปลี่ยนแปลงนี้ นอกจากจะช่วยให้การจัดพอร์ตกระจายความเสี่ยงเที่ยงตรงเท่าเทียมกันทุกแผนการลงทุนของ Jitta Ranking แล้ว ยังช่วยให้คุณกระจายความเสี่ยงซื้อหุ้นได้หลายบริษัทมากขึ้นในจำนวนเงินที่น้อยลงด้วย
เพราะจากเดิม ถ้าคุณเปิดพอร์ต Jitta Ranking ด้วยเงินลงทุน 500,000 บาท คุณต้องรอให้มูลค่าพอร์ตเพิ่มขึ้นถึง 750,000 บาทก่อนถึงจะได้เริ่มลงทุนหุ้นตัวที่ 6 แต่ด้วยแนวทางการจัดพอร์ตใหม่ ถ้ามูลค่าพอร์ตของคุณเติบโตขึ้นเกิน 600,000 บาทเมื่อไร คุณก็จะได้เริ่มลงทุนหุ้นตัวที่ 6 ทันที
แนวทางจัดพอร์ตใหม่นี้ ทำให้พอร์ต Jitta Ranking ของคุณเริ่มกระจายความเสี่ยงได้เร็วขึ้น ลงทุนแบบโฟกัสมากขึ้น แต่ยังคงศักยภาพการสร้างผลตอบแทนชนะตลาดได้ดีดังเดิม
2.3 Back Test นโยบาย Jitta Ranking หลังปรับอัลกอริทึมวิเคราะห์หุ้น IPO และจำนวนหุ้นที่ลงทุน
เราได้ทดสอบผลตอบแทนย้อนหลัง (Back Test) ของการลงทุนนโยบาย Jitta Ranking ทุกแผน โดยใช้อัลกอริทึมที่ปรับวิธีวิเคราะห์หุ้น IPO ตามรายละเอียดข้อ 2.1 และจัดพอร์ตด้วยจำนวนหุ้น 20 ตัวตามที่ได้อธิบายในข้อ 2.2 โดยใช้ข้อมูลตั้งแต่วันที่ 30 กันยายน 2555 ถึง 30 กันยายน 2565
พบว่าการอัปเดตอัลกอริทึมและปรับจำนวนหุ้นที่ลงทุน ส่งผลดีต่อผลตอบแทนของ Jitta Ranking ในภาพรวมเป็นส่วนใหญ่ ดังนี้
ผลตอบแทน (ตารางด้านล่าง) เป็นผลตอบแทนที่รวมปันผล และหักค่าธรรมเนียมต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการลงทุนนโยบาย Jitta Ranking ทุกอย่างแล้ว
การทดสอบผลตอบแทนย้อนหลัง (Back Test) ของนโยบาย Jitta Ranking ก่อนและหลังอัปเดต
หากคุณลงทุนในนโยบาย Jitta Ranking อยู่แล้ว หลังปีใหม่นี้ พอร์ต Jitta Ranking ของคุณจะเริ่มทำงานด้วยอัลกอริทึมเวอร์ชันใหม่โดยอัตโนมัติ และปรับเป็น 5-20 หุ้นเมื่อถึงคิวปรับพอร์ตครั้งแรก นับจากวันที่ 3 มกราคม 2566
โฟกัสหลักการลงทุน โฟกัสผลตอบแทนในระยะยาว
ปี 2565 นี้เป็นปีที่ตลาดผันผวนค่อนข้างมาก เพราะผลกระทบจากปัจจัยด้านภูมิรัฐศาสตร์ ภาวะเงินเฟ้อสูง นโยบายการเงินตึงตัวของธนาคารกลางทั่วโลก และห่วงโซ่อุปทานโลกทำงานสะดุด จนพอร์ตนักลงทุนติดลบกันเยอะ
ผลตอบแทนของปีที่ผ่านมาที่ผันผวนแบบนี้ อาจทำให้นักลงทุนหลายคนรู้สึกไม่มั่นใจ ไม่แน่ใจในหลักการและกระบวนการลงทุนว่าถูกต้อง และสร้างผลตอบแทนระยะยาวได้จริงหรือเปล่า
ทีมงาน Jitta Wealth ได้พิจารณาความคิดเห็นและข้อเสนอแนะของนักลงทุนที่ส่งมาทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นทางกลุ่ม Jitta Wealth Official ทาง Line @JittaWealth หรือทางช่องทางโซเชียลอื่นๆ สิ่งใดที่จะช่วยพัฒนาผลตอบแทนและประสบการณ์การลงทุนของทุกคนให้ดีขึ้น ภายใต้กรอบการลงทุนระยะยาวที่ถูกต้อง เราจะทยอยนำมาปรับใช้ และอัปเดตให้ทราบเรื่อยๆ
การอัปเดตอัลกอริทึมทั้งหมดนี้ ไม่ใช่จุดสิ้นสุดของการพัฒนาของเรา ไม่ว่าสภาวะตลาดหรือผลตอบแทนจะเป็นอย่างไร เราก็จะใช้ประโยชน์จากข้อมูลที่มีเพิ่มมากขึ้นทุกๆ ปีมาทบทวน ทดลองตั้งสมมติฐานใหม่ๆ และทดสอบจนได้ผลลัพธ์ที่มีประสิทธิภาพ ถ้าผลลัพธ์ที่ได้ดีขึ้นกว่าวิธีเดิม เป็นประโยชน์ต่อนักลงทุน และอยู่ในกรอบหลักการลงทุนระยะยาวแล้ว เราก็พร้อมจะปรับอัลกอริทึมตามที่ข้อมูลบ่งชี้ และเมื่อเรามีข้อมูลเพิ่มขึ้นอีก เราก็จะพัฒนาอัลกอริทึมให้ดียิ่งขึ้นอีกในอนาคต
ซึ่งการเปลี่ยนแปลงหรือไม่เปลี่ยนแปลงบางอย่าง บางครั้งอาจดูไม่สมเหตุสมผล ณ ช่วงเวลาหนึ่ง แต่เราเชื่อมั่นว่า เมื่อเป็นคำตอบที่ได้จากการวิจัย ทดลอง และวัดผลด้วยข้อมูลสถิติอย่างเป็นระบบ เพื่อผลลัพธ์ระยะยาวที่ ‘ยั่งยืน’ มากกว่าผลลัพธ์ระยะสั้นที่ ‘เย้ายวน’ แล้ว ย่อมเป็นทางเลือกที่ดีที่สุด นักลงทุนเพียงต้องรักษาวินัยการลงทุนให้ได้ เพื่อเก็บเกี่ยวผลลัพธ์นั้น
เพราะอย่าลืมว่า ตลาดหุ้นเป็นสถานที่ ‘สุดเหวี่ยง’ เด้งขึ้นเด้งลงเป็นเรื่องปกติ บางปีคุณอาจทำกำไรได้เป็นกอบเป็นกำ และบางปีคุณก็ขาดทุนหนักได้เหมือนกัน สิ่งที่ควรโฟกัสมากกว่าผลตอบแทนที่ขึ้นลงรายปี ก็คือการพัฒนากระบวนการลงทุนที่ถูกต้องและทำซ้ำได้สม่ำเสมอ เพื่อให้คุณได้ผลตอบแทนระยะยาวที่น่าพึงพอใจที่สุด
วันหนึ่งเมื่อการเดินทางลงทุนนี้จบลง คุณอาจจะได้พบว่า เส้นทางที่โรยด้วยกลีบกุหลาบ ไม่ได้พาคุณไปสู่เป้าหมายได้เหมือนกับเส้นทางที่เต็มไปด้วยหลุมบ่ออย่างที่กำลังเผชิญอยู่ตอนนี้ก็เป็นได้ และสิ่งที่จะช่วยคุณก้าวผ่านหลุมบ่อไปถึงเส้นชัย คือความรู้ ความเข้าใจ และวินัย เท่านั้นเอง
หากคุณโฟกัสไปที่การลงทุนด้วยหลักการที่ถูกต้องและการสร้างผลตอบแทนจากการลงทุนที่ดีในระยะยาว มากกว่าจะโฟกัสไปที่การรีบเร่งทำผลตอบแทนระยะสั้นๆ ที่อ่อนไหวตามอารมณ์ตลาดให้ดีเลิศ คุณจะสนุกและมีความสุขกับการลงทุนมากขึ้นอย่างแน่นอน
หากคุณมีข้อสงสัยหรือคำถามเกี่ยวกับการอัปเดตอัลกอริทึมและการบริหารจัดการพอร์ต Jitta Wealth สามารถติดต่อสอบถามในกลุ่ม Jitta Wealth Official หรือทาง Line ID: @JittaWealth ได้ในวันและเวลาทำการ
หมายเหตุ: อัปเดตเนื้อหาเมื่อวันที่ 21 ธันวาคม 2565 เพื่อชี้แจงที่มาที่ไปของการปรับวิธีที่อัลกอริทึมใช้ในการวิเคราะห์จัดอันดับธีมเมกะเทรนด์ของ Thematic Optimize และอธิบายการทดสอบประสิทธิภาพการเลือกธีมของอัลกอริทึมให้ชัดเจนมากยิ่งขึ้น
กองทุนส่วนบุคคล Jitta Wealth บริหารจัดการโดย บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน จิตตะ เวลธ์ จำกัด ซึ่งเป็น WealthTech แห่งแรกของไทยที่ได้รับใบอนุญาตจากกระทรวงการคลัง กำกับโดยสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ ใบอนุญาตเลขที่ ลค-0105-01
ผลตอบแทน การเปรียบเทียบหรือการจัดอันดับการดำเนินงานในอดีตที่เกี่ยวข้องกับการลงทุน ไม่การันตีผลตอบแทนในอนาคต การลงทุนมีความเสี่ยง ผู้ลงทุนควรทำความเข้าใจนโยบายการลงทุน เงื่อนไขผลตอบแทน ความเสี่ยงด้านอัตราแลกเปลี่ยน และความเสี่ยงอื่นๆ ก่อนตัดสินใจลงทุน
อ่านเพิ่มเติม
3 จุดเด่น ลงทุนหุ้นต่างประเทศสไตล์ VI กับ Jitta Ranking